อลิซาเบธ ชันสูตรหรือไม่?
เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีข่าวที่ชวนเศร้าใจข่าวหนึ่งคือ การเสียชีวิตของดาวค้างฟ้า นามว่า อลิซาเบธ เทย์เลอร์ แม้เธอจะอยู่แดนไกล แต่เชื่อว่าเธอยังเป็นที่รู้จักและเป็นที่รักของคนไทยจำนวนไม่น้อย ข่าวที่น่าเศร้าใจเช่นว่านี้ ชวนให้ผู้เขียนนึกถึงข้อกฎหมายที่สำคัญประการหนึ่งในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในประเทศไทย จึงใคร่ขอนำมาเล่าสู่กันในบทความนี้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย มีกระบวนการหนึ่งซึ่งถือว่ามีความสำคัญในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ กระบวนการชันสูตรพลิกศพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๘ ว่า
“ เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย ”
การตายโดยผิดธรรมชาติ นั้นคือ
(๑) ฆ่าตัวตาย
(๒) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
(๓) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
(๔) ตายโดยอุบัติเหตุ
(๕) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
ตามมาตราดังกล่าว กฎหมายไม่ได้เขียนความหมายหรือวัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพ
ไว้อย่างชัดเจน แต่เมื่ออ่านประกอบกับมาตรา ๑๕๔ ที่บัญญัติว่า
“ ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพทำความเห็นเป็นหนังสือแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ผู้ตายคือใคร
ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้ ”
จะเห็นได้ว่าการชันสูตรพลิกศพนั้น กฎหมายมุ่งประสงค์จะทำความจริงให้ปรากฏในเบื้องต้น
เพื่อทราบว่าผู้ตายเป็นใคร สาเหตุการตายคืออะไร และที่สำคัญ การตายนั้นเป็นผลมาจากการกระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ ทั้งนี้ โดยมีเจตนารมณ์ที่สำคัญคือเพื่อให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายอาญาในกรณีที่มีบุคคลถึงแก่ความตายซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ได้มีการตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นการตายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดทางอาญาหรือไม่
อย่างไรก็ตาม กฎหมายมิได้บังคับให้มีการชันสูตรพลิกศพในทุกกรณีที่มีการตายเกิดขึ้น เพียงแต่บังคับให้ทำทุกกรณีเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า
(๑) มีบุคคลถึงแก่ความตาย และ
(๒) บุคคลนั้นถึงแก่ความตาย โดยเหตุผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างความควบคุมของเจ้าพนักงาน
ดังนั้น การตายของบุคคลในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ไม่ว่าจะตายด้วยความป่วยเจ็บตามธรรมชาติ หรือตายด้วยเหตุประการใดๆ ก็ตาม กฎหมายบังคับให้ต้องมีการชันสูตรพลิกศพทั้งสิ้น ต่างจากการตาย
ในกรณีที่มิได้อยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน กฎหมายบังคับให้มีการชันสูตรพลิกศพเฉพาะเมื่อมีการตายโดยผิดธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งกฎหมายกำหนดเหตุแห่งการตายโดยผิดธรรมชาติไว้ห้าประการ ตามที่ผู้เขียนได้ยกบทบัญญัติดังกล่าวไว้ข้างต้นแล้ว
เพื่อให้เห็นถึงการปรับใช้กฎหมายของประเทศไทยที่ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนจึงขอย้อนกลับมากล่าวถึงตัวอย่างที่ผู้เขียนยกไว้ข้างต้น คือกรณีของอลิซาเบธ เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าอลิซาเบธได้ถึงแก่ความตายเพราะหัวใจล้มเหลว กรณีเช่นนี้ ถือว่ามิใช่การตายโดยผิดธรรมชาติ เพราะมิได้เป็นการฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้ายตาย ตายโดยอุบัติเหตุ หรือตายโดยยังมิปรากฏเหตุ หากความจริงรับฟังเป็นยุติเช่นนี้ตามกฎหมายไทย
ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องชันสูตรพลิกศพอลิซาเบธ
จากตัวอย่างดังกล่าว คงพอที่จะทำให้ทราบว่า เพราะเหตุใดการตายบางอย่างจึงต้องมีการชันสูตรพลิกศพ และการตายบางอย่างจึงไม่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงไว้แล้วข้างต้น
เปรมรัตน์ วิจารณาญาณ
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา
สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ
โฆษกศาลยุติธรรม
0 comments:
Post a Comment