ทำอย่างไรเมื่อถูกจับผิดตัว
จากกรณีที่ ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายขังและปล่อยตัว นายสมใจ แซ่ลิ้ม ที่ถูกตำรวจ จับกุมในข้อหาคดียาเสพติด และถูกนำตัวไปคุมขังยังทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางไปทันที เนื่องจากรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นายสมใจ แซ่ลิ้ม ที่ถูกจับกุมและคุมขังไม่ใช่ผู้ต้องหาที่กระทำความผิด เพียงแต่เป็นบุคคลที่มี ชื่อและนามสกุลเหมือนกับผู้ต้องหาอีกคนเท่านั้น จะเห็นได้ว่าศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับการดำเนิน กระบวนการทางศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้น พื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 32 ได้บัญญัติรับรองหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพใน
ชีวิตและร่างกายไว้ โดยเฉพาะในเรื่องของการจับและการคุมขังบุคคลที่จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมาย ของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ อย่างไรก็ดี หากปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าได้มีการจับกุม และคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายรัฐธรรมนูญกำหนดให้
“ผู้เสียหาย พนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อ ศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความ เสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้”
นอกจากนี้ เพื่อให้หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายสามารถดำเนินการได้อย่างเป็น
รูปธรรม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้กำหนดขั้นตอนและเงื่อนไขตั้งแต่การออกหมาย การ จับกุมผู้กระทำความผิด ไปจนถึงการนำตัวผู้กระทำความผิดไปคุมขังไว้อย่างละเอียด รวมถึงวิธีแก้ไขในกรณีที่มี การอ้างว่ามีการคุมขังบุคคลใดบุคคลหนึ่งในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วย
กฎหมาย โดยมาตรา 90
กำหนดให้บุคคลดังต่อไปนี้ มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยบุคคลที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต่อศาลที่มี อำนาจพิจารณาคดีอาญานั้น ได้แก่
(1) ผู้ถูกคุมขังเอง
(2) พนักงานอัยการ
(3) พนักงานสอบสวน
(4) ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี
(5) สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง
ทั้งนี้ เมื่อศาลได้รับคำร้องขอให้ปล่อย จะต้องดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน และหากศาลเห็นว่า
คำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เห็นเป็นที่ พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที ซึ่งในกรณีของ
นายสมใจ แซ่ลิ้ม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2554 นายธงชัย ฉัตรเพิ่มพร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระโขนง ได้รับจดหมายจากนางสุรินทร์ พิกุลขาว ขอให้ปล่อยตัวนายสมใจ แซ่ลิ้ม สามีซึ่งมีอาชีพรับจ้างเลี้ยงหมู ใน อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี จากการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายสมใจสามีตนไม่ได้ เป็นผู้กระทำความผิดฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และน่าจะเป็นการจับผิดตัว ศาลจึงได้มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอให้ปล่อยตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยด่วน และเมื่อนางสุรินทร์ได้เดินทางมาศาลเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554 ศาลได้ทำการไต่สวนพยานผู้ร้องรวม 5 ปาก รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมนายอนันต์ มีกุลหรือมีสกุล และนายสุรเชษฐ์ กลั่นคำ สองผู้ต้องหาที่ถูก เจ้าหน้าที่ตำรวจล่อซื้อและจับกุมได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน จำนวน 2,000 เม็ด ที่ให้การว่าได้ร่วมกับนายสมใจ แซ่ลิ้ม อาชีพรับจ้างขับรถทัวร์ ร่วมกันค้ายาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เคยเห็นหน้าคนร้ายและ ยืนยันได้ว่านายสมใจ แซ่ลิ้ม ผู้ต้องหาที่จับกุมมา ไม่ใช่นายสมใจ หรือ ใจ แซ่ลิ้ม คนร้ายที่ร่วมกระทำความผิด ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายขัง และ
ให้ออกหมายปล่อยตัวนายสมใจ แซ่ลิ้ม ไปทันทีในวันเดียวกัน อย่างไรก็ดี สิทธิที่จะร้องขอให้ปล่อยตามมาตรา 90 จะมีอยู่เพียงระยะเวลาที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วย กฎหมายเท่านั้น ดังนั้น หากในระหว่างที่มีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อย หรือการไต่สวนคำร้องขอให้ปล่อยนั้นยัง
ไม่ถึงที่สุด และผู้ถูกคุมขังได้รับการปล่อยตัวไปแล้วในระหว่างนั้น ศาลชอบที่จะจำหน่ายคดีนั้น และสิทธิของ บุคคลที่ร้องขอให้ปล่อยย่อมระงับไป
ดังตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 4827/2550 (ประชุมใหญ่) ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สิทธิของผู้ถูกคุมขังในการ ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัว จากการควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายตามมาตรา 90 นั้นมีอยู่เพียงชั่วระยะเวลา ที่ผู้ถูกคุมขังยังถูกควบคุมหรือขังไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าหลังจากผู้ร้องถูกควบคุมตัว พนักงานสอบสวนได้ปล่อยผู้ร้องชั่วคราวไปแล้วโดยให้ผู้ร้องทำสัญญาประกันไว้ จึงไม่มีการควบคุมตัวผู้ร้อง อีกต่อไป ผู้ร้องจึงไม่อาจร้องขอตามมาตรา 90 ได้ แต่ในส่วนของการจับหากเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะดำเนินคดีแก่เจ้าพนักงานตำรวจที่จับผู้ร้อง ด้วยการร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานหรือฟ้องคดีต่อ ศาลด้วยตนเองตามบทบัญญัติของกฎหมายต่อไป
ดังนั้น การคุมขังบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะต้องกระทำการด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็น
การกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย ดังเช่นในกรณีของนายสมใจ แซ่ลิ้ม ที่ถือได้ว่าได้รับผลกระทบโดยตรงจาก การถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในร่างกายตามที่บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายจึงต้องมีมาตรการที่จะคุ้มครองเมื่อมีการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายเช่นว่านั้นเกิดขึ้น โดย กำหนดให้ศาลมีอำนาจที่จะต้องทำการไต่สวนหาความจริงว่ามีการควบคุม กักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายจริง หรือไม่ หากเป็นจริงศาลต้องมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังนั้นไปทันที ทั้งนี้ศาลจะพิจารณาข้อเท็จจริงจาก พยานหลักฐานเป็นรายกรณีไป
สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
0 comments:
Post a Comment