ประเทศไทยมีกี่ศาล
นับแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทย ได้เปลี่ยนจากระบบศาลเดี่ยวมาเป็นระบบศาลคู่ กล่าวคือ จากเดิมที่มีเฉพาะศาลสถิตยุติธรรมที่ทำหน้าที่ ชี้ขาดตัดสินอรรถคดีทั้งปวงเปลี่ยนมาเป็น มีศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้น ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แม้แต่ผู้คนที่อยู่ในแวดวงกระบวนการยุติธรรมบางส่วนยังสับสนไขว้เขวเข้าใจไม่ถูกต้อง จึง ไม่แปลกหากประชาชนและสื่อมวลชนบางสาขาจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในระบบการศาลของไทย ที่ปฏิรูปใหม่ ดังตัวอย่างเช่น บทความการเมืองหน้า 3 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์หัวข้อ “ น้ำท่วมกับประชาชนต้องมาก่อน ‘ไม่ครบเทอม’ สัญญาณ ‘ อภิสิทธิ์’ ย่อหน้าที่ 9 ความว่า ‘ สถานการณ์ต่อมาคือ การต่อสู้ในคดี’ ‘ ยุบพรรคประชาธิปัตย์’ ที่มี ‘ ทางโค้ง’ ให้ใจหายใจคว่ำ จากกรณี ‘คลิปการสนทนา’ ระหว่างทีมกฎหมายของพรรคกับอดีตเลขานุการส่วนตัวประธานศาลฎีกา...
ผู้เขียนเชื่อว่า บทความข้างต้นคงมุ่งหมายถึงเหตุการณ์ในคลิปภาพและเสียงการสนทนาระหว่างเลขานุการส่วนตัวของประธานศาลรัฐธรรมนูญกับสมาชิกสภาผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ที่กำลัง ตกเป็นข่าวตามสื่อในขณะนี้มากกว่า เนื่องจากคดียุบพรรคประชาธิปัตย์กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลรัฐธรรมนูญสามารถแต่งตั้งเลขานุการส่วนตัวได้ตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการแต่งตั้งเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ส่วน ประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นประมุขสูงสุดของศาลยุติธรรม ไม่มีตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวเช่นศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจระบบศาลในประเทศไทยโดยไม่ผิดหลง ผู้เขียนจึงอาสาขออรรถาธิบายขยายความ คำว่า ระบบศาลคู่ในประเทศไทย ดังนี้ ”
1. ศาลยุติธรรม ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2425 มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวงตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น คดีแพ่ง คดีอาญา คดีเยาวชนและครอบครัว คดีล้มละลาย คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีภาษีอากร คดีเลือกตั้ง คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เป็นต้น มีนายสบโชค สุขารมณ์ เป็นประธานศาลฎีกา นายวรวุฒิ ทวาทศิน เป็นเลขาธิการประธานศาลฎีกา และนายเชวง ชูศิริ เป็นเลขานุการศาลฎีกา โดยไม่มีตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวประธานศาลฎีกา
2. ศาลปกครอง จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เปิดทำการ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 มี 2 ชั้นศาล คือ ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลาง มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครองโดยเฉพาะอันไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลอื่น คดีที่เกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือ
/ เจ้าหน้าที่
เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ฯลฯ เป็นต้น มีนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล เป็นประธานศาลปกครองสูงสุด
3. ศาลรัฐธรรมนูญ จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เริ่มเปิดทำการเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2543 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 9 คน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญไว้หลายประการ เช่น การวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฏหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้วมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ กระทำการใดเพื่อให้ตนมีส่วนโดยตรงและโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายหรือไม่ หรือวินิจฉัยมติ หรือข้อบังคับของพรรคการเมือง การพิจารณาอุทธรณ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการวินิจฉัยกรณีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นต้น มีนายชัช ชลวร เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เป็นเลขานุการส่วนตัวซึ่งปัจจุบันได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว
4. ศาลทหาร เป็นศาลพิเศษที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ศาลทหารแบ่งได้ 3 ประเภทคือ ศาลทหารในเวลาปกติ ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ศาลอาญาศึก ศาลทหารปกติมี 3 ชั้นศาลคือ ศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารชั้นกลาง (ชั้นอุทธรณ์) และศาลทหารชั้นสูงสุด (ชั้นฎีกา) “มีอำนาจพิจารณาพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดอาญาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด....” เช่น ทหารประจำการ ทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์หรือที่สมัครเข้ากองประจำการเพราะกฎหมายบังคับให้ต้องเป็นทหาร) ส่วนคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร เช่น คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน เช่น ทหารกระทำผิดอาญาร่วมกับพลเรือน คดีที่ต้องดำเนินการในศาลเยาวชนและครอบครัว เนื่องจากอายุของผู้กระทำความผิด เป็นต้น
ที่กล่าวมาทั้งหมดคือ ระบบศาลคู่ในประเทศไทยโดยสังเขปตามที่กำหนดในกฏหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แม้ผู้เขียนจะระบุอำนาจหน้าที่ตามภารกิจทั้งหมดหรือระบบโครงสร้างของศาลแต่ละศาลไม่ครบถ้วนกระบวนความก็ตาม แต่ก็พอทำให้ท่านผู้อ่านรู้จักประเภทของศาลและระบบศาลคู่ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ผู้คนในสังคมยังไม่ค่อยรู้ประการหนึ่งก็คือ ศาลยุติธรรมได้แยกออกจากกระทรวงยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2543 ด้วยแล้วอีกเช่นกัน
สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ
โฆษกศาลยุติธรรม
0 comments:
Post a Comment