สัญชาติอะไรหนอ!!!!
ข่าวสุดฮิตจากหนังสือพิมพ์ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ไม่ใช่ข่าวการเมือง หรือข่าวการประท้วง แต่เป็นข่าวสะเทือนโลกข้างล่างนี้
“เตียงหักอีกคู่! "ภราดร-นาตาลี" คู่รักระดับโลก ตัดสินใจแยกทางกันอยู่ตั้งแต่เดือน ก.ค. ปีที่ผ่านมา สาเหตุจากภาระหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายทำให้ห่างเหินกัน จึงตัดสินใจแยกทางกันด้วยดี...
ปิดตำนานคู่รักระดับโลก บอล-ภราดร ศรีชาพันธุ์ อดีตนักเทนนิสมือหนึ่งของประเทศไทย และนาตาลี เกลโบวา อดีตมิสยูนิเวิร์ส หรือน้องฟ้า ตัดสินใจแยกทางกันอยู่ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2553 ที่ผ่านมา ส่วนสาเหตุนั้น มาจากภาระหน้าที่การงานของทั้งสองฝ่ายทำให้ห่างเหินกัน จึงตัดสินใจแยกทางกันด้วยดี ภราดร ศรีชาพันธุ์ นักหวดลูกสักหลาดเอเชียเพียงคนเดียว ที่สามารถไต่อันดับขึ้นมาเป็นหนึ่งในสิบผู้เล่นยอดเยี่ยมของรายการเทนนิส ชื่อดัง เอทีพี ทัวร์ ยังคงเดินสายเล่นเทนนิสทั่วภูมิภาค และในขณะนี้ ก็กำลังประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจต่างๆในประเทศไทยอีกด้วย ด้าน นาตาลี เกลโบวา สาวแคนาดาเชื้อสายรัสเซีย ผู้ได้รับการการันตีความงามด้วยตำแหน่งนางงามจักรวาลปี 2548 ยังคงเดินสายร่วมงานการกุศลทั่วประเทศไทย พร้อมกับความสำเร็จในฐานะนางแบบ และเซเลบริตี้ผู้มีผลงานผ่านสื่อมากมาย”
ข่าวคราวดังกล่าวเป็นข่าวซุบซิบในแวดวงบันเทิง คำถามมากมายว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้ทั้งคู่แยกทางกัน? เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตคู่ของทั้งสอง? อื่นๆอีกมากมาย ผู้เขียนในฐานะนักกฎหมาย จึงอยากจะนำเสนอแง่มุมอื่นที่น่าสนใจในมุมมองของกฎหมาย โดยอาศัยบางเสี้ยวของข้อเท็จจริงเป็นประเด็นช่วยทำให้เห็นว่ากฎหมายนั้นวนเวียนอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวันของเราตลอดเวลา และการได้เรียนรู้ถึงกฎหมายเหล่านี้ก็จะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างผาสุกยิ่งขึ้น และเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้น ในบทความนี้ขอสมมติชื่อตัวละครฝ่ายหญิงต่างประเทศว่า นิด และฝ่ายชายไทยว่าภูมิ
สำหรับปุจฉาของผู้เขียนที่สืบเนื่องจากกรณีทอล์คออฟเดอะทาวน์นี้ ก็คือ 1.ถ้านิดซึ่งหญิงชาวต่างประเทศหรือที่ภาษากฎหมายเรียกว่า หญิงต่างด้าวนั้น แต่งงานกับภูมิ ซึ่งเป็นชายไทยจะได้
สัญชาติไทยโดยอัตโนมัติหรือไม่? และ 2.หากนิดหย่าขาดจากภูมิแล้ว นิดจะเสียสัญชาติไปเพราะการหย่าขาดทันทีหรือไม่
ในข้อแรกเป็นปุจฉาเรื่องสัญชาติ กฎหมายหลักที่ต้องนำมาใช้ได้แก่ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งมาตรา 9 บัญญัติว่า “หญิงซึ่งเป็นคนต่างด้าวและได้สมรสกับผู้มีสัญชาติไทย ถ้าประสงค์จะได้สัญชาติไทย ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง” จากมาตรา 9 นี้ หญิงต่างด้าวอาจขอถือสัญชาติตามสามีไทยได้ ภายใต้เงื่อนไขดังนี้
1 หญิงนั้นเป็นต่างด้าวซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย หรือหญิงไร้สัญชาติ หรือมีสัญชาติหลายสัญชาติพร้อมกันก็ได้
2 สมรสกับผู้มีสัญชาติไทยโดยถูกต้องตามกฎหมาย
3 เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว หญิงต่างด้าวนั้นต้องแสดงเจตนาขอถือสัญชาติตามสามี โดยต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งโดยหลักแล้วก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องหรือพนักงานทูตหรือกงสุล
4 เมื่อยื่นคำขอแล้ว กฎหมายกำหนดให้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย ในการพิจารณาอนุญาต
5 ดังนั้น ผลจากกฎหมายดังกล่าว ก็แสดงว่า หญิงต่างด้าวเมื่อสมรสกับชายไทย ไม่ได้สัญชาติไทยโดยอัตโนมัติ และไม่สูญเสียสัญชาติเดิมที่ตัวเองถืออยู่ หากหญิงต่างด้าวอยากจะได้สัญชาติไทยเพราะการสมรส ก็ต้องเป็นความสมัครใจของหญิงนั้น และยังต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย
6 เมื่อได้สัญชาติไทยแล้ว สัญชาติไทยนั้นมีผลเฉพาะแก่ตัวหญิงนั้น และหญิงนั้นไม่จำเป็นต้องสละสัญชาติเดิมของตัวเองด้วย หญิงที่ได้สัญชาติไทยเพราะการสมรสตามสามีเช่นนี้ จึงอาจถือสัญชาติได้สองสัญชาติ นอกจากนี้ ถ้าปรากฏต่อมาสามีผู้มีสัญชาติไทยถูกถอนสัญชาติ หรือสละสัญชาติหรือแปลงสัญชาติไปถือสัญชาติใหม่ หญิงนั้นยังคงมีสัญชาติไทยต่อไป
ปุจฉาข้อแรก ผู้เขียนก็ได้วิสัชนาได้เรียบร้อยแล้ว
ส่วนปุจฉาข้อที่สองหากนิดหย่าขาดจากภูมิผู้เป็นสามีแล้ว แต่นิดยังอยากอยู่ประเทศไทย ถือสัญชาติไทย นิดจะเสียสัญชาติไทยโดยอัตโนมัติเพราะการหย่าขาดหรือไม่?
ในเรื่องนี้ ในมาตรา 9 ไม่ได้กล่าวไว้อย่างใดอีก ดังนั้น การจะสูญเสียสัญชาติไทยไปหรือไม่ ก็ต้องใช้วิธีการเดียวกันกับการเสียสัญชาติไทยในกรณีอื่นๆ ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติไว้ว่าการสูญเสียสัญชาติไทยอาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีการแปลงสัญชาติ สละสัญชาติหรือถูกถอนสัญชาติ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ง่ายๆ พอสรุป ได้ดังนี้
1. การแปลงสัญชาติไทยเป็นสัญชาติอื่น ถ้านิดไม่ต้องการจะถือสัญชาติไทยแล้ว อยากจะเปลี่ยนไปถือสัญชาติอื่น ก็อาจแปลงสัญชาติตนเองเป็นสัญชาติอื่นได้ โดยนิดจะต้องดำเนินการตามกฎหมายสัญชาติของประเทศที่นิดประสงค์จะแปลงไปเป็นสัญชาตินั้น
2. ถ้านิดถือสัญชาติไทยและสัญชาติเดิมของตนเอง นิดอาจสละสัญชาติไทยเพื่อไปถือสัญชาติเดิมได้ (มาตรา 15) แต่ถ้านิดได้สละสัญชาติเดิมไปแล้ว นิดก็ไม่สามารถสละสัญชาติไทยตามมาตรานี้ได้ เช่นนี้ หากนิดยืนยันว่าไม่อยากถือสัญชาติไทยอีกแล้ว เพราะไม่อยากมีความหลังผูกพัน หรือเพราะเหตุผลอะไรก็ตาม นิดจะต้องดำเนินการแปลงสัญชาติตามที่กล่าวไว้ในข้อ 1.
3. แม้นิดจะได้สัญชาติไทยโดยการสมรสแล้ว แต่หากนิดมีพฤติการณ์ตามมาตรา 16 ได้แก่ การสมรสเป็นเท็จ กระทบต่อความมั่นคง หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิดอาจถูกทางการถอนสัญชาติไทยได้
จากหลักกฎหมายดังกล่าว ก็สามารถตอบปุจฉาข้อที่สองได้แล้วว่า การหย่าขาดจากสามีไม่ทำให้หญิงต่างด้าวที่ได้สัญชาติเพราะการสมรสกับชายไทย เสียสัญชาติไทยไปโดยอัตโนมัติ แต่ต้องมีกระบวนการในการแปลง สละ และถอนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น
เมื่อได้รับฟังข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว ก็เข้าใจว่าคุณนิดคงสบายใจที่ตัวเองยังคงมีสัญชาติไทยได้โดยสมบูรณ์อยู่ ไม่ต้องมาคอยตอบคำถามว่าตัวเองมีสัญชาติอะไรหนอ ให้กลุ้มใจเหมือนใครบางคน!!!!!
เปรมรัตน์ วิจารณาญาณ
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา
สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ
โฆษกศาลยุติธรรม
0 comments:
Post a Comment