Thursday, September 6, 2012

ขโมยน้องหมา โทษอาญาที่คาดไม่ถึง

ขโมยน้องหมา โทษอาญาที่คาดไม่ถึง





“ตำรวจสกลฯ รวบแก๊งตระเวนขโมยหมาตามบ้านยามวิกาล ผู้ต้องหาสารภาพขโมยหมาเพื่อส่งนายทุนขายประเทศที่ 3 สนนราคาตัวละ 300-500 บาท ตามแต่ขนาด” จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ฉบับวันที่ 19 เมษายน 2554

“เจ้าของสุนัขปล่อยโฮ หลังเจอสุนัขพันธุ์ที่ถูกขโมยไปเมื่อ ต้นเดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ค่ายกัก
จ.นครพนมโดยเป็นหนึ่งในเหยื่อแก๊งเปิบนรก เผยเห็นจากข่าวเลยตามมาดูพบว่าใช่จริงๆ...
จากเหตุสะเทือนใจคนรักสุนัข กรณีตำรวจ-อส.นครพนม สกัดจับรถขนสุนัขที่ขโมยมาไปส่งยังประเทศเพื่อนบ้าน พบสุนัขกว่า 1,000 ตัว ยัดใส่กรงแออัดจนบางตัวเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ พร้อมจับกุมผู้ลักลอบขน” จากหนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จะเห็นได้ว่าข่าวเศร้าสะเทือนใจของน้องหมามีให้เห็นเป็นเนืองๆ สะเทือนใจต่อผู้ได้พบหรือได้เห็นโดยเฉพาะชมรมคนรักน้องหมา ผู้เขียนจึงอดคิดไม่ได้ว่า การกระทำเช่นนี้นอกจากเป็นการทารุณจิตใจน้องหมาและเจ้าของด้วยการพรากพวกเขาจากกันแล้ว ยังอาจถูกประณามหยามเหยียดจากสังคมได้ ผู้กระทำต่อน้องหมาน่าจะได้รับโทษตามกฎหมายอะไรบ้าง คำถามนี้ก็ได้รับคำตอบจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นหลายเรื่องว่าการกระทำความผิดดังกล่าวมีความผิดดังต่อไปนี้
1.    ฐานค้าสัตว์(สุนัข)โดยไม่ได้รับอนุญาตต่อนายทะเบียน จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499
2.    ฐานเคลื่อนย้ายสัตว์(สุนัข)โดยไม่ได้รับอนุญาตต่อนายทะเบียน จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499
3.    ฐานกระทำทารุณสัตว์ (สุนัข)โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 381
4.    ฐานครอบครองสัตว์ (สุนัข) ไม่จัดการให้สัตว์ได้รับการฉีดวัคซีนจากแพทย์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ปรับไม่เกินสองร้อยบาท ตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535
ในคดีที่เป็นข่าวข้างต้น  ศาลจังหวัดนครพนมก็ได้ตัดสินลงโทษจำคุกจำเลยผู้กระทำผิด  โดยไม่รอการลงโทษจำคุก  เพราะเห็นว่าจำเลยบางคนกระทำผิดซ้ำซากไม่หลาบจำ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง มุ่งหวังประโยชน์ส่วนตนฝ่ายเดียว  จึงน่าจะเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้คิดจะกระทำการในทำนองเดียวกันนี้อีก เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้อ่านและผู้เขียน อัตราโทษตามกฎหมายข้างต้นไม่ใช่เป็นโทษสุทธิตายตัวที่ศาลต้องวางโทษในอัตราสูงสุดเสมอไปทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นรายคดีไป แต่หากมีข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นมาอีกโดยผู้เขียนยกตัวอย่างขึ้นมาใหม่ว่า นางสาวบัวพบว่า สุนัขหายไป ต่อมาเห็นข่าวทางหนังสือพิมพ์ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายรันพร้อมสุนัขจำนวนเกือบร้อยตัว โดยนายรันให้การว่า ตนขโมยสุนัขดังกล่าวเพื่อนำไปขายที่ประเทศเพื่อนบ้านเพราะให้ราคาสูงและนิยมรับประทาน นางสาวบัวจึงไปตรวจดูพบสุนัขของตนที่สูญหายไปอยู่กับนายรันในสภาพที่มีบาดแผลจากการอยู่ในกรงที่แออัด นอกจากนี้สุนัขบางตัวก็ตายเพราะขาดอากาศหายใจ
นอกจากโทษตามกฎหมายข้างต้นที่อาจได้รับแล้ว โทษตามกฎหมายอื่นที่เราน่าจะนำมาพิจารณาคือ ข้อหาลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ที่บัญญัติว่า
“ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกินหกพันบาท”
องค์ประกอบในความผิดฐานนี้ที่จะต้องพิจารณา ได้แก่
1.    การที่นายรันเอาสุนัขไป สุนัขนี้ถือเป็นทรัพย์ตามกฎหมายหรือไม่ 
2.    หากสุนัขเป็นทรัพย์ตามกฎหมายแล้ว ทรัพย์นี้มีเจ้าของหรือไม่ ขณะที่นายรันลักสุนัขนั้นไป
3.    การกระทำของของนายรันเป็นการเอาทรัพย์นั้นไปหรือไม่ 
4.    นายรันมีเจตนาทุจริตหรือไม่

องค์ประกอบประการแรกที่ว่า สุนัขเป็นทรัพย์หรือไม่นั้น บุคคลทั่วไปอาจเข้าใจว่า สุนัขเป็นสัตว์ที่มีชีวิตจิตใจ มิใช่สิ่งของ จึงน่าจะไม่ใช่ทรัพย์ เมื่อดูจากประมวลกฎหมายอาญาแล้ว กฎหมายมิได้ให้คำนิยามเกี่ยวกับทรัพย์ไว้แต่อย่างใด จึงจำเป็นต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งถือเป็นกฎหมายพื้นฐานในการกำหนดสถานะเกี่ยวกับทรัพย์ ซึ่งตามมาตรา 137 บัญญัติว่า “ทรัพย์” หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง ซึ่งคำว่าวัตถุนี้ มีความหมายกว้างขวางว่าหมายถึง วัตถุอย่างใดๆ ที่มิใช่คน หากเป็นวัตถุจับต้องได้ ล้วนมีสภาพเป็นทรัพย์ทั้งสิ้น สุนัขจึงต้องจัดเป็น “ทรัพย์” ด้วย 
ประการต่อมา ทรัพย์เช่นว่านั้นมีเจ้าของหรือไม่ องค์ประกอบข้อนี้ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่ง เพราะหากสุนัขนั้นเป็นสุนัขจรจัด ไม่มีเจ้าของ ทรัพย์เช่นว่านั้นย่อมมิใช่ทรัพย์ของ “ผู้อื่น” เมื่อมิใช่ทรัพย์ของผู้อื่น หากจะมีผู้ใดยึดถือครอบครองเอาไว้เป็นของตนเอง ย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์แต่อย่างใด ถ้าปรากฎข้อเท็จจริงว่าสุนัขของนางสาวบัวได้เดินเตลิดหนีไปจากบ้านของนางสาวบัว โดยนางสาวบัวยังคงติดตามค้นหาสุนัขอยู่ เช่นนี้จะถือว่าสุนัขไม่มีเจ้าของยังไม่ได้ เพราะเจ้าของยังค้นหาติดตามอยู่ มิได้มีการสละละทิ้งทรัพย์นั้นไปจากความครอบครองของตนแต่อย่างใด ต้องถือว่าทรัพย์นั้นมีเจ้าของ สำหรับกรณีตัวอย่างนี้ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าสุนัขห่างหายไปจากเจ้าของนานจนอาจถือได้ว่านางสาวบัวได้สละทิ้งซึ่งสุนัขนั้นแล้ว จึงต้องถือว่า ขณะที่นายรันลักเอาสุนัขนั้นไป สุนัขนั้นยังมีเจ้าของอยู่
องค์ประกอบประการต่อมา การที่จะถือว่านายรัน “เอาไป” หรือไม่นั้น จะต้องเป็นการพาทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ไป พาไปจนสำเร็จ ความหมายก็คือต้องมีการแย่งการครอบครองและพาทรัพย์เคลื่อนที่ไป ไม่ว่าจะเคลื่อนที่ไประยะห่างไกลเพียงใด หรืออาจมีการเคลื่อนที่ไปแล้ว ผู้ลักเอาไปเกิดเปลี่ยนใจอยากนำทรัพย์คืนก็ตาม ถือว่าได้มีการ “เอาไป” แล้วทั้งสิ้น ในกรณีตัวอย่าง การ”เอาไป” นั้นอาจเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น การล่อสุนัขให้เดินตามไปแล้วจับใส่กรงขังพาขึ้นรถเคลื่อนที่ไป หรืออาจใช้กำลังบังคับจับเอาสุนัขนั้นไปก็ได้ ทั้งนี้ การเอาทรัพย์ไปนั้นจะต้องเป็นการกระทำที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของนางสาวบัวตลอดไป ไม่ใช่เอาไปชั่วคราว
การเอาไปที่จะถือเป็นการลักทรัพย์ จะต้องปรากฎว่าเป็นการเอาไป “โดยทุจริต”
ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญาให้คำนิยามคำว่า “โดยทุจริต” หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น หมายความว่า นายรันจะต้องเอาสุนัขนั้นเพื่อแสวงหาประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าปรากฎว่านายรันเห็นสุนัขเดินพลัดหลงอยู่ ได้พาสุนัขนั้นไปเพื่อนำไปฝากเลี้ยงไว้ยังสถานสงเคราะห์สัตว์ เช่นว่านี้ นายรันยังไม่มีเจตนาทุจริต การแสวงหาประโยชน์ในทางทุจริตไม่จำเป็นต้องเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สิน และไม่จำเป็นต้องเป็นการเอาทรัพย์ไปเป็นของตนหรืองของผู้อื่น เพียงแต่ได้ประโยชน์อย่างใดๆ ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เช่น นายรันหลงรักนางสาวบัว ได้เอาสุนัขของนางสาวบัวไป แม้ต่อมา ตนจะได้เอาสุนัขนั้นไปคืนเพื่อที่นางสาวบัวจะได้รู้สึกประทับใจในตัวนายรัน เช่นนี้ ถือเป็นการกระทำโดยทุจริตแล้ว
ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์การกระทำของนายรันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่านายรันได้กระทำผิดฐานลักทรัพย์ จึงอาจต้องรับผิดทางอาญาอีกฐานหนึ่งด้วย
เมื่อรู้เช่นนี้แล้วจึงเป็นข้อคิดแก่ผู้กระทำว่า การข่มเหงรังแกสัตว์แม้จะพูดไม่ได้แต่ก็มีชีวิตและจิตใจที่จะรู้เจ็บรู้ภัยและรู้อันตรายที่เผชิญอยู่นอกจากจะผิดศีลห้าแล้ว ผู้กระทำยังต้องได้รับบทลงโทษทางกฎหมายอีกด้วย  ดังคำพระที่ว่า  ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นจะถึงตัว

        เปรมรัตน์    วิจารณาญาณ
                       ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา

                              สิทธิศักดิ์   วนะชกิจ
                                          โฆษกศาลยุติธรรม





0 comments:

Post a Comment