Thursday, September 6, 2012

อากงปลงไม่ตก (2)

อากงปลงไม่ตก (2)

    บทความเรื่อง “อากงปลงไม่ตก” ที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ มีผู้ที่เห็นพ้องและเห็นแย้งใน
ตรรกะและเนื้อหาของผู้เขียน สุดแต่มุมมองความเชื่อ ความเข้าใจและต้นทุนองค์ความรู้ของแต่ละคน ซึ่ง ผู้เขียนพร้อมน้อมรับด้วยความเคารพในความเห็นที่มองต่างมุม อันเป็นผลธรรมดาของนักนิติศาสตร์
และสังคมประชาธิปไตยที่ทุกคนไม่จำต้องเห็นตรงกันในเรื่องเดียวกันเสมอไป อย่างไรก็ตามความเห็น
แตกต่างที่อาจทำให้สังคมฉงนสนเท่ห์ ลังเล สับสนในทฤษฎีวิชาการทางกฎหมายหรือข้อเท็จจริงแห่ง
คดีที่ศาลพิพากษา ผู้เขียนย่อมจำต้องขออนุญาตอรรถาธิบายขยายความให้กระจ่างชัดขึ้น ซึ่งความเคลือบ คลุมดังกล่าวคงเป็นข้อจำกัดหลายประการของผู้เขียนเอง บทความนี้จึงขอนำเอาความเห็นแย้งของท่าน ผู้อ่านมาเป็นประเด็นคลายปมให้ตกผลึก ดังนี้ ข้อสงสัยประการแรก เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกอากงแล้วเหตุใดอากงยังได้รับการ สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามหลัก Presumption of Innocence มิเป็นการขัดแย้ง
กันเองหรือ คำตอบ ตราบใดที่อากงหรือจำเลยยังคงติดใจโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วยวิธีการอุทธรณ์ หรือฎีกาแล้ว ถือว่าคดีนั้นยังไม่จบสิ้นกระแสความหรือถึงที่สุด เนื่องจากศาลสูงอาจพิพากษายืน ยก กลับ แก้คำพิพากษาศาลล่างได้ ฉะนั้นผลของคดีจึงอาจจะตรงกันข้ามกับที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ ตัดสินก็ได้ เพราะในการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลสูงยังคงใช้หลักข้อสันนิษฐานเดียวกันว่าจำเลยเป็นผู้ บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยอันมีพื้นฐานมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เหตุผลสำคัญที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานดังกล่าวคือแม้อากงจะต้องโทษ จำคุกตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว แต่อากงก็ยังคงมีสิทธิยื่นคำร้องของปล่อยตัวชั่วคราวในชั้น อุทธรณ์หรือฎีกาได้เพราะคดียังไม่ถึงที่สุดนั่นเอง ส่วนการที่อากงหรือจำเลยจะได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาหรือไม่นั้นเป็นคนละ เรื่องคนละขั้นตอนกับที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าอากงมีความผิด เพราะการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นเรื่องที่ ศาลชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานจนแน่ใจปราศจากข้อสงสัยว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็น ผู้กระทำความผิดนั้น ศาลจึงพิพากษาลงโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคแรก ส่วนขั้นตอนการขอปล่อยชั่วคราวในแต่ละชั้นศาล เกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้ามาอยู่ในอำนาจศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนการ อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจะพิจารณาเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ในประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 และ 108/1 ซึ่งบางครั้งการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวของศาล ก็ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบยุติธรรมและสังคมได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเช่น ในคดีสำคัญหลาย เรื่องที่จำเลยเป็นที่รู้จักและไม่รู้จักของสังคมได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น หรือในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดแต่จำเลยได้รับการประกันตัวไปในระหว่างอุทธรณ์ หรือฎีกาต่อมาได้หลบหนีไป ย่อมทำความเสียหายแก่กระบวนการยุติธรรมเพราะไม่สามารถนำตัวจำเลย มาพิจารณาคดีหรือรับโทษได้ จึงสรุปได้ว่า การที่จำเลยมีสิทธิได้รับการประกันตัวในศาลสูงจึงเป็น ข้อสนับสนุนว่าจำเลยได้รับการสันนิษฐานว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมายนั่นเอง ข้อสงสัยประการต่อมา มีผู้โต้แย้งว่า ในคดีอากงเมื่อผู้เขียนบอกว่า สำหรับบุคคลที่เจนโลก โชกโชนสันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคม สถาบันหลักของประเทศชาติและองค์พระประมุข อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชาติให้เกิดความเข้าใจหลงผิด ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ควรต้องถูกลงโทษอันขัดแย้งกันเองกับที่ผู้เขียนบอกว่า อากงยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้น ในข้อนี้ ฟังผิวเผินอาจเป็นปรปักษ์กันเอง แต่สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายหรือนัก นิติศาสตร์ย่อมสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก หรืออาจเป็นความเลินเล่อที่ผู้เขียนมิได้อธิบายขยายความให้แจ่ม แจ้งแทงทะลุ ความจริงคือข้อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นหลักการสากลของกฎหมายตามที่ได้ อธิบายในข้อแรก ส่วนเนื้อหาข้อเท็จจริงแห่งคดีนั้นศาลจะพิพากษาอย่างไรเป็นเหตุผลเฉพาะคดีตาม พยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายโต้แย้งต่อสู้คดีกัน ถ้าจะพิพากษาลงโทษจำเลย โจทก์ก็ต้องนำสืบพิสูจน์ให้ ศาลเชื่อโดยสนิทใจว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่หากพยานหลักฐานไม่พอ ฟังลงโทษหรือมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัย นั้นให้แก่จำเลยและศาลต้องพิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยไป หรือถ้าคดีใดอัยการโจทก์สามารถนำสืบ พิสูจน์จนให้ศาลเห็นและเชื่อได้ว่าจำเลยมีเจตนาชั่วร้าย ดังวลีที่ผู้เขียนบัญญัติขึ้น จำเลยในคดีนั้นก็ สมควรที่จะได้รับโทษานุโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ทั้งนี้เพื่อปกป้องคุ้มครองปัจเจก ชนซึ่งเป็นผู้เสียหายคุ้มครองความสงบเรียบร้อยของสังคม ประเทศชาติ ประชาชนและสถาบัน พระมหากษัตริย์อันเป็นเสาหลักความมั่นคงของประเทศให้มีความปลอดภัย แต่ถ้าคำตอบสุดท้ายศาล

สูงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลล่างว่าจำเลยไม่มีความผิดแล้ว ข้อกล่าวหาทั้งปวงและผลแห่งคำ
พิพากษาของศาลชั้นต้นย่อมถูกลบล้างไป จำเลยย่อมพ้นมลทินเป็นผู้บริสุทธิ์
อนึ่ง ที่มักจะมีการกล่าวอ้างว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพตามธรรมชาติ ในการพูดหรือแสดงความ
คิดเห็นมีเกียรติยศศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่ควรถูกใครทำร้ายย่ำยีบีฑาทั้งชีวิต ร่างกาย จิตใจ
หรือชื่อเสียงเกียรติคุณ ข้อนี้ผู้เขียนเห็นด้วยแต่ว่าสิทธิดังกล่าวคงมิได้หมายความรวมไปถึงการมีสิทธิ
ทำลายแผ่นดินเกิดของตนเองหรือเสาหลักของชาติบ้านเมืองหรือกระทำการใดอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่
ทุกคนเคารพและยึดถือร่วมกัน อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินกรอบที่วิญญูชนจะยอมรับได้ อนึ่งการ
กระทำการใดตามอำเภอใจโดยไม่เคารพสิทธิผู้อื่นก็ไม่ต่างอะไรกับคนป่าได้ปืนหรือคนเสียสติบ้าคลั่งไม่
รู้สำนึกผิดชอบชั่วดี บริภาษด่าทอ ทำลาย ทำร้าย ผู้อื่นด้วยความคะนองใจ โดยมิได้คำนึงถึงความ
เสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่บุคคล สังคม และประเทศชาติรวมถึงตนเองและครอบครัว ดังนั้นเหตุผลของ
ผู้เขียนที่หยิบยกมาเป็นข้อเขียนในบทความแรก จึงเป็นหลักการตามที่กฎหมายบัญญัติและเป็น
กระบวนการที่ศาลใช้บรรทัดฐานในการพิจารณาพิพากษาคดี มิได้มีความขัดแย้งกันแต่ประการใด
ข้อสงสัยประการสุดท้าย คือหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอากงแล้ว มี
บุคคลหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ข้อเท็จจริงคดีนี้ตามสื่อโทรทัศน์บางช่องหรือ
สื่อสารสนเทศ โดยผู้วิจารณ์ไม่ได้อ่านหรือเห็นคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นตัดสิน แต่นำเอาข้อเท็จจริงนอก
สำนวนหรือเฉพาะข้อต่อสู้ของจำเลยเป็นข้ออ้างสนับสนุนความเชื่อของตนเองและกล่าวหาทำนองว่า
ศาลชั้นต้นตัดสินผิดพลาด ข้อนี้ ผู้เขียนขอฝากว่าคดีนี้อากงหรือจำเลยซึ่งเป็นคู่ความคดีย่อมรู้ความจริงแก่ใจดีที่สุดว่า
ข้อเท็จจริงแห่งคดีหรือพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์และฝ่ายตนเป็นอย่างไร และปัจจุบันคดีนี้อยู่ในระหว่าง
คู่ความทั้งสองกำลังใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ บุคคลภายนอกที่มิใช่คู่ความในคดีไม่
บังควรโน้มน้าวจูงใจทำให้สังคมเกิดอคติต่อข้อเท็จจริงที่ตนเองยังรู้ไม่แจ้งเห็นจริง เพื่อให้ผู้คนเชื่อว่า
จำเลยบริสุทธิ์และศาลชั้นต้นพิพากษาไม่ถูกต้อง อันมิใช่เป็นการวิพากษ์ในเชิงวิชาการหรือติชมด้วย
ความเป็นธรรมและสุ่มเสี่ยงต่อความผิดตามกฎหมาย หนทางที่ถูกต้อง ควรปล่อยให้ศาลสูงเป็นผู้
ทบทวนคำพิพากษาศาลล่างตามกระบวนการและช่องทางที่กฎหมายกำหนดจะเหมาะสม ชอบธรรม
ถูกต้อง และสง่างามกว่าการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงนอกเรื่องนอกสำนวนนอกศาลซึ่งมีแต่ทำให้สังคมผิด
หลง สับสน และมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องต่อศาลและกระบวนการยุติธรรม วันนี้สังคมไทยยังอ่อนไหว
คลื่นใต้น้ำยังไม่สงบ ประเทศชาติต้องการความเป็นเอกภาพ สันติภาพและสันติธรรม ต้องการความ
เข้มแข็งและความสามัคคี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ชาวโลก อันมีผลต่อระบบเศรษฐกิจการค้า การ
ลงทุน และการท่องเที่ยวรวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ผู้เขียนมั่นใจว่าคนไทยทุกคนรักแผ่นดินเกิด ต้องการเห็น
ประเทศชาติก้าวหน้ามั่นคง พัฒนาในทุกมิติให้เท่าทันอารยะประเทศ ปรารถนาให้บรรยากาศบ้านเมือง
อบอุ่นเป็นมิตรต่อกัน ความสุขมวลรวมและรายได้ของประชากรในชาติสูง ถ้าทุกคนมีเป้าหมายตรงกัน
เช่นนี้ ผู้เขียนใคร่ขออนุญาตนำเอาคำกล่าวในอดีตที่เคยพูดกันมาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างชาติให้ มีสันติสุขอย่างถาวรยั่งยืนคือ “อย่าดึงฟ้าต่ำ อย่าทำหินแตกและอย่าแยกแผ่นดิน”


สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ
โฆษกศาลยุติธรรม

0 comments:

Post a Comment