การครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นอย่างไร
หรือที่ดินมีโฉนดถูกแย่งกรรมสิทธิ์ได้ไหม
หรือถูกฟ้องศาลแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยอ้างว่าครอบครองปรปักษ์แล้ว
ความสงสัยทั้งหมดนี้มีตัวอย่างและคำตอบครับ
เรื่องมีอยู่ว่า นางคำ และนายบุญ
เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดซึ่งมีเขตที่ดินติดต่อกัน นางคำ
ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของตนและรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายบุญ
บางส่วนที่มีแนวเขตที่ดินติดต่อกันลึกเข้าไปประมาณ 10 เมตรตลอดแนวเขตที่ดิน
โดยนางคำ เข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตน ส่วนนายบุญ
ก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด วันเวลาล่วงเลยมากว่าสี่สิบปี
เมื่อนายบุญเสียชีวิต
นายครองบุตรชายได้รับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวของนายบุญมาแล้วทำการรังวัด
ที่ดินใหม่จึงทราบว่า นางคำได้ทำกินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตนบางส่วน
นายครองจึงให้นางคำออกไปจากที่ดิน
และนำตำรวจมาเชิญตัวเพื่อบีบบังคับให้นางคำออกไปจากที่ดินดังกล่าว
นางคำจะโต้แย้งคัดค้านอย่างไร จะมีสิทธิในที่ดินที่ครอบครองรุกล้ำหรือไม่
ซึ่งหลายคนก็คิดและเข้าใจว่า นายครองเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนด
หลักหมุดแสดงเขตแดนอยู่ตรงไหน
นายครองย่อมมีสิทธิไปถึงที่ดินตามหมุดแสดงเขตแดนตรงนั้น
ยังไงนางคำก็ต้องออกไปจากที่ดินที่รุกล้ำนั้น
ความเข้าใจดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่ โปรดติดตามต่อไป
ตามกฎหมายที่ดินมีโฉนด...ย่อมเป็นหลักฐานสำคัญที่จะแสดงว่าบุคคลผู้มีชื่อ
ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวเป็นเจ้าของที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย
และภายในบังคับแห่งกฎหมาย
เจ้าของทรัพย์สินที่ดินมีโฉนดดังกล่าวย่อมมีสิทธิใช้สอย
และจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น
กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะ
ยึดถือไว้
และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบ
ด้วยกฎหมาย แต่มิใช่ว่า
เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดแล้วจะไม่มีใครมาแย่งกรรมสิทธิ์เอาไปได้
เลย อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดครับ
เพราะเจ้าของที่ดินอาจเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปโดยการครอบครองปรปักษ์ได้
การครอบครองปรปักษ์นั้นเป็นอย่างไรกัน
บางคนยังไม่เคยฟังมาก่อนเลย หรืออาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว
แต่ก็ไม่เคยสนใจ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับตน
แต่บางคนได้เจอมากับตัวพร้อมๆกับต้องเสียที่ดินไปแล้วเพราะคำๆนี้
แล้วเกิดอาการเจ็บอกปวดหัวใจไม่หายจนกระทั่งบัดนี้เลยทีเดียว เอาเป็นว่า
การครอบครองปรปักษ์
เป็นถ้อยคำที่มีทั้งคนที่ชื่นชอบชวนหาเรื่องให้ปวดหัวเสียเงินเสียทองอยู่
เสมอและไม่ชอบคำนี้
เพราะเจ้าของที่ดินที่มีบุคคลอื่นเข้าไปแย่งการครอบครองจนครบ 10
ปีแล้วก็จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ทันที กรณีเช่นนี้
เจ้าของที่ดินที่ถูกแย่งการครอบครองก็จะเกลียดคำว่า ปรปักษ์
ในทางกลับกันผู้ที่เข้าไปแย่งการครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์มาก็จะชื่นชอบคำว่า
ปรปักษ์ เป็นอย่างมาก
ฝ่ายที่ได้กรรมสิทธิ์ต้องยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งรับรองและคุ้ม
ครองสิทธิดังกล่าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ฝ่ายที่จะเสียสิทธิ์ก็ต้องว่าจ้างทนายความต่อสู้คดีเพื่อมิให้เสียสิทธิ์ของ
ตน
แต่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนทนายความทุกท่านจะชอบคำนี้มากเพราะได้เงินค่าจ้างว่า
ความ เรียกว่า หลับได้เงินหมื่น ตื่นได้เงินแสน
วันใดขาดแคลนได้สักสี่ห้าร้อยก็พอ ...ฮา ฮา ฮา...
เรื่องการครอบครองปรปักษ์ทรัพย์ของผู้อื่นแล้วได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์นั้น
มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
“บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ โดยความสงบ
และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ
ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี
ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกัน เป็นเวลาห้าปีไซร้
ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”
หลักเกณฑ์การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ มีดังต่อไปนี้
1.ต้องเป็นการครอบ
ครองทรัพย์สินของผู้อื่น
โดยมีการเข้าไปยึดถือใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของผู้อื่น จะเป็นใครก็ได้
แต่ต้องไม่ใช่ที่ดินของผู้ครอบครองปรปักษ์เอง
เพราะการครอบครองปรปักษ์จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น
2.ทรัพย์สินที่ครอบ
ครองต้องเป็นทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์
ถ้าเป็นที่ดินก็ต้องเป็นที่ดินมีโฉนดเท่านั้น
และหากที่ดินดังกล่าวทางราชการเพิ่งจะออกโฉนดที่ดิน
ระยะเวลาที่ครอบครองก่อนที่ดินจะออกโฉนดจะไม่นำมานับรวมเพื่อได้สิทธิ์
ที่ดินมีการออกโฉนดเมื่อใดก็เริ่มนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไปจนครบสิบปีจึง
จะได้กรรมสิทธิ์ ส่วนที่ดินมือเปล่า ได้แก่ ที่ดินตาม ส.ค.1 หรือ น.ส.3
หรือ น.ส. 3 ก. หรือไม่มีหลักฐานใดเลย จะมีได้เพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น
จึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ได้
แต่ที่ดินประเภทนี้สามารถแย่งการครอบครองกันได้ ซึ่งจะไม่กล่าวในบทความนี้
3.ต้องเป็นการครอบครองโดยความสงบ
คือครอบครองอยู่ได้โดยไม่ได้ถูกกำจัดให้ออกไป หรือถูกฟ้องร้องมีคดีความกัน
หรือโต้เถียงกรรมสิทธิ์กัน เช่น
ต่างฝ่ายต่างหวงห้ามต่อกันโดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของจะถือว่าเป็นการครอบครอง
โดยความสงบไม่ได้
4.ต้องเป็นการครอบ
ครองโดยเปิดเผย คือ ไม่ได้มีการปิดบังอำพราง
หรือซ่อนเร้นเข้ายึดถือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น เช่น
สร้างฐานรากของโรงเรือนซึ่งเป็นส่วนที่ฝังอยู่ใต้ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดิน
ของผู้อื่น โดยมีเจตนาเพื่อซ่อนเร้นปกปิดการกระทำที่ไม่ชอบของตน
ไม่อาจถือว่าครอบครองที่ดินส่วนที่รุกล้ำโดยเปิดเผย ตามมาตรา 1382 ดังนั้น
แม้จะมีการครอบครองมานานเท่าใด ก็ไม่ได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าว
(ฎ.5238/2546)
5.ต้องเป็นการครอบ
ครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ คือ การยึดถือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นนั้น
มิใช่เพียงแต่ยึดถือครอบครองเพื่อตนเองอย่างสิทธิครอบครองเท่านั้น
แต่จะต้องมีการยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นด้วย เช่น
ต้องมีการทำประโยชน์ใช้สอยทรัพย์สินนั้น,
มีการขัดขวางห้ามบุคคลอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น
และไม่เป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิ
หรือยอมรับอำนาจกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์นั้นด้วย
6.ระยะเวลาในการได้
กรรมสิทธิ์ ต้องเป็นการครอบครองโดยความสงบ และโดยเปิดเผย
ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น
ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอัน
เดียวกับที่ดินนั้นและหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน
หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย
ต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ เช่น
ทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ ต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี
จึงจะได้กรรมสิทธิ์
มีคำกล่าวติดตลกกันว่าแย่งครอบครองไม้ขีดไฟต้องใช้เวลาถึง 5 ปี
จึงได้กรรมสิทธิ์ แต่แย่งครอบครองที่ดินมือเปล่าใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปี
ก็ได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองแล้ว
7.ประการสุดท้ายแม้
กฎหมายจะไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ครอบครองจะต้องกระทำด้วยความสุจริตก็ตาม
แต่การใช้สิทธิแห่งตนบุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต
การใช้สิทธิทางศาลจึงต้องมาด้วยมือที่สะอาด
การแย่งการครอบครองที่มีเจตนาไม่สุจริต เช่น ลักทรัพย์ บุกรุก ฉ้อโกง ฯลฯ
อันมีพฤติกรรมเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผิดศีลธรรมหรือ
ผิดกฎหมาย ก็จะไม่ได้กรรมสิทธิ์ และไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ข้อสังเกต ทรัพย์สิน
ที่จะครอบครองปรปักษ์ไม่ได้เลย
กล่าวคือครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ เช่น ทรัพย์สินของแผ่นดิน,
สาธารณสมบัติของแผ่นดิน, ที่วัดที่ธรณีสงฆ์ เป็นต้น
ส่วนกรณีผู้ครอบครองปรปักษ์ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ครอบครองแล้ว
ผู้ครอบครองปรปักษ์จะบังคับให้เจ้าของไปจดทะเบียนโอนให้ไม่ได้
แต่ผู้ได้สิทธิดังกล่าวจะต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่า
เป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น
เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วจึงนำคำสั่งศาลดังกล่าวไปยื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง
เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ต่อไป นอกจากนี้
การครอบครองปรปักษ์เป็นการได้อสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม
หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน
หรือศาลจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์แล้วก็ตาม
ตราบใดที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงทางทะเบียน (โฉนด)
แม้จะครอบครองนานเพียงใดก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเสีย
ค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วไม่ได้นั่นเอง ดังนั้น
หากเจ้าของได้โอนที่ดินไปยังผู้อื่น
ถ้าผู้รับโอนได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน และสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง
มีผลทำให้การครอบครองปรปักษ์ก่อนหน้านั้นสิ้นไป
ต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่
จากหลักกฎหมายเรื่องการครอบครองปรปักษ์ดังกล่าวข้างต้นนั้น
จึงแสดงให้เห็นว่า แม้จะเป็นเจ้าของที่ดินที่มีโฉนดแล้วก็ตาม
ก็อาจเสียกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ว่าทั้งแปลงหรือบางส่วนได้
เพราะการครอบครองปรปักษ์เป็นบทกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ลงโทษเจ้าของที่ดินที่
ละทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดินของตน
ซึ่งปัญหาเรื่องที่ดินแบบนี้ได้มีมานานแล้ว
มีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลกันเป็นจำนวนมากด้วย
เจ้าของที่ดินมีโฉนดเสียสิทธิในที่ดินไปเป็นจำนวนหลายรายเหมือนกัน
ส่วนใหญ่จะเกิดกับบุคคลที่มีแนวเขตที่ดินติดต่อกัน
ต่างฝ่ายต่างเข้าใจว่าแนวเขตที่ดินของตนถึงแค่บริเวณใด
ทั้งที่ความจริงเจ้าของที่ดินข้างเคียงอาจรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตนก็ได้
หรือเกิดขึ้นกับคนที่มีที่ดินอยู่ในครอบครองเป็นจำนวนมาก
อาจจะจำไม่ได้ว่าเป็นเจ้าของตรงที่ไหนบ้าง
หรือมีแนวเขตที่ดินถึงส่วนไหนบ้าง
หรือไม่เคยไปเหลียวแลดูที่ดินของตนเองหรือทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเลยแม้
แต่น้อย
เจตนารมณ์ของกฎหมายเรื่องการครอบครองปรปักษ์ต้องการให้เจ้าของที่ดินนั้น
ใช้ประโยชน์ในที่ดินให้คุ้มค่า ไม่ปล่อยปละละเลยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า
เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม
ที่ดินทุกแห่งทุกแปลงหากเอาไปทำการเกษตรย่อมผลิตดอกออกผลได้อย่างแน่นอน
อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติ
กฎหมายจึงลงโทษเจ้าของที่ดินที่ไม่ใส่ใจดูแลที่ดินของตนเอง
โดยมีบทบัญญัติให้บุคคลใดที่ครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นระยะเวลารวม 10 ปี
แล้วได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ไปทันทีตามกฎหมาย
แม้ว่าชื่อในโฉนดที่ดินจะยังเป็นของเจ้าของเดิมก็ตาม
ผู้ครอบครองก็มีสิทธิจะไปร้องขอกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นต่อศาลได้
เมื่ออ่านหลักกฎหมายมาแล้ว
ที่นี้ก็มาว่ากันถึงเรื่องของนางคำต่อไปครับ
การที่นางคำเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบางส่วนของนายบุญโดยความสงบ
เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกิน 10 ปีแล้ว
ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่รุกล้ำโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย
แม้ว่านางคำจะเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ตาม
และการที่นายครองได้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินของนายบุญเจ้ามรดกนั้น
นายครองก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ว่า
นางคำครอบครองไม่ถึงสิบปีนับแต่วันที่ตนรับโอนมรดกมาไม่ได้
เพราะการรับมรดกที่ดินของนายครอง
เป็นเวลาภายหลังที่นางคำได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว
นายครองได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการรับมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิและตลอดจนความ
รับผิดต่าง ๆ
ประกอบกับนายครองไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนตาม
ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง
นางคำผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยครอบครองปรปักษ์
จึงมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนดังกล่าวได้
และนำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเป็นชื่อของตนต่อไปได้
ผู้เขียนได้นำคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดของประเทศที่ได้เคย
ตัดสินเป็นบรรทัดฐานการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์เฉพาะกรณีที่
เกี่ยวกับนางคำมาให้ผู้อ่านศึกษาเป็นตัวอย่างด้วยดังนี้
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5596/2552 การที่ผู้ร้องทั้งห้าได้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้อื่นแม้จะเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ตาม หากแต่ผู้ร้องทั้งห้าได้
ยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงแล้ว
ก็ไม่จำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องรู้มาก่อนว่าที่ดินนั้นเป็นของผู้อื่นแล้วแย่ง
การครอบครองมาเป็นเวลา 10 ปี จึงจะได้กรรมสิทธิ์ แม้ผู้ร้องทั้งห้าเข้า
ครอบครองที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านทั้งสามโดยเข้าใจผิดว่าเป็นของผู้ร้องทั้ง
ห้าเองก็ถือได้ว่าเป็นการเข้ายึดถือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยเจตนา
เป็นเจ้าของตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว
หากผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย
ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกิน 10 ปี
ผู้ร้องทั้งห้าย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมาย
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2641/2550 การครอบครองที่ดินโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของ แม้จะเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเอง ก็ถือเป็นการครอบครองที่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ได้
มิใช่นับแต่ที่จำเลยรู้ว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยครอบครองนั้นเป็นที่ดินของ
โจทก์เพราะถือว่าเป็นการครอบครองโดยสงบ เปิดเผย
ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2533
การที่โจทก์ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า
จำเลยก่อสร้างรั้วรุกล้ำที่ดินพิพาทของโจทก์
ก็ไม่เป็นผลดีแก่คดีของโจทก์เพราะเป็นการแจ้งความภายหลังที่กรรมสิทธิ์ใน
ที่ดินพิพาทได้ตกเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว
จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา1382 จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าไม่ได้รุกล้ำที่ดินโจทก์ หากรุกล้ำจำเลยก็ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่รุกล้ำโดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่ง
ศาลชั้นต้นได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้แล้ว
แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่รุกล้ำโดยการ
ครอบครองปรปักษ์
โดยจำเลยมิได้ฟ้องแย้งและเสียค่าขึ้นศาลมาก็ตามแต่ศาลอุทธรณ์ก็เพียงพิพากษา
กลับให้ยกฟ้องโจทก์เท่านั้น ศาลอุทธรณ์หาได้พิพากษาเกินไปกว่า
หรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ไม่
โจทก์ได้รับการยกที่ดินให้และได้รับมรดกจาก ก. ย. และ
ส.โดยมิได้เสียค่าตอบแทน ฉะนั้น
เมื่อจำเลยเป็นผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม
แม้จะยังมิได้จดทะเบียนก็ย่อมยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้
เพราะแม้โจทก์จะจดทะเบียนโดยสุจริต แต่ก็มิได้เสียค่าตอบแทนแต่อย่างใด.
4. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2536 จำเลยทั้งสามได้ไปจด
ทะเบียนรับโอนมรดกที่พิพาทอันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่
พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วจำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการรับ
มรดกต้องรับไปทั้งสิทธิและตลอดจนความรับผิดต่าง ๆ
จำเลยทั้งสามจึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนตามที่
บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์
ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยครอบครองปรปักษ์
ซึ่งบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว
จึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสาม และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าว
ที่ทำให้ตนเสียเปรียบได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300
5. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4476/2544 โจทก์ฟ้องว่า
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์โจทก์ขอรังวัดตรวจสอบแนวเขต
จำเลยทั้งสองคัดค้านขอให้พิพากษาว่าที่ดินเป็นของโจทก์
ห้ามจำเลยทั้งสองคัดค้านการรังวัดสอบเขตจำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งในตอน
แรกว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โดยซื้อมาจาก น.
แต่จำเลยทั้งสองกลับให้การและฟ้องแย้งในตอนหลังว่า
กรณีจะเป็นประการใดก็ตามหากฟังได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 1ก็ได้ครอบครองทำประโยชน์โดยสงบ เปิดเผย
ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนานกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยที่ 1
ย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
จึงขัดแย้งกับคำให้การและฟ้องแย้งตอนแรก
ซึ่งอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เพราะซื้อมา
จึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น
Thursday, September 6, 2012
การครอบครองปรปักษ์ (ที่ดินถูกครอบครองปรปักษ์)
8:26 PM
1 comment
เรื่องนี้ ผมเรียบเรียงขึ้นจากปัญหาพิพาทที่เกิดขึ้นจริง ลงท้ายให้เครดิตเจ้าของต้นฉบับสักนิดก็ดีนะครับ
ReplyDeletehttp://www.phuwarinlawyer.com/webboard-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%8C(%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%8C)-1-132727-1.html