Thursday, September 6, 2012

อากงปลงไม่ตก

อากงปลงไม่ตก

พลันสิ้นคำอ่านคำพิพากษาศาลอาญาคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.311/2554 ระหว่าง
พนักงานอัยการฯ โจทก์ นายอำพล ตั้งนพคุณ จำเลยอายุ 61 ปี ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นแสดง
ความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์พระราชินีฯ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(2)(3) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 หรือที่ผู้คนทั่วไปเรียกว่า “คดีอากง” กระแสสังคมเกือบทุกสาขาอาชีพต่างให้ความสนใจ เหมือนกระแสน้ำที่ไหลบ่ามาท่วมศาลและกระบวนยุติธรรมเช่นน้ำท่วมกรุงเทพฯที่ผ่านมา รวมทั้ง ต่างชาติบางประเทศก็ให้ความสนใจแสดงความห่วงใย วิพากษ์วิจารณ์ ศาลยุติธรรมไทยในทางไม่สร้างสรรค์นัก แต่ไม่ว่าความเห็นของสังคมจะสื่อสารในทางใดก็ตาม ศาลและกระบวนการยุติธรรมไม่เคยขัดขวาง การแสดงความคิดเห็นของบุคคลใด ๆ ขอเพียงการแสดงออกตั้งอยู่บนฐานคติที่ปราศจากอคติ ภายใต้ หลักวิชาการ หลักกฎหมาย หลักนิติธรรม หลักเหตุผล หรือหลักความเชื่อส่วนตนที่สุจริตมีข้อมูลครบถ้วน สมบูรณ์ แต่ดูเหมือนหลายคนที่วิจารณ์ผลคดีข้างต้นในทางลบยังมิได้รู้เห็นพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริง ในสำนวนความอย่างถ่องแท้ ซึ่งการนิ่งเฉยของศาลและกระบวนยุติธรรมมิได้มีค่าเป็นตำลึงทองเสียแล้ว ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำความจริงบางประการในท้องสำนวนคดีนี้ ประกอบกับประเด็นที่สังคมตั้งข้อสงสัย มานำเฉลยเอ่ยความ เพื่อเป็นข้อมูลแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านที่เคารพ ซึ่งมีประเด็นใหญ่ๆ ที่ผู้คนกล่าวขานกัน ดังนี้

1. อากงไม่ได้กระทำความผิด เหตุใดศาลจึงพิพากษาลงโทษจำคุก
2. ศาลลงโทษจำคุก 20 ปี เป็นโทษที่หนักเกินไป
3. อากงอายุมากแล้วควรได้รับการลดโทษ ปล่อยตัวไป หรือได้รับการประกันตัว
4. ศาลไทยไม่มีมาตรฐานสากล ควรรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล
5. ควรยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดว่าด้วย การกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายคอมพิวเตอร์

ในข้อแรก ผู้ที่เห็นว่า อากงมิได้กระทำความผิดนั้น หากเป็นการตัดสินกันเองโดยบุคคล
กลุ่มคนนอกศาลและกระบวนการยุติธรรม คงจะหาเหตุผลรองรับความชอบธรรมยากสักหน่อย เพราะ
เป็นความเชื่อส่วนตนที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เป็นอัตวิสัยที่อาจ ปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน ในขณะที่คดีนี้ผ่านกระบวนการสอบสวน การกลั่นกรองจากอัยการ แล้วเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีในชั้นศาลอย่างเต็มที่ อันเป็นหลักการสากลและหลักกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ ผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อสู้คดีอย่างเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นธรรม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า อากงหรือจำเลย

/ มี ...

มีความผิดเพราะศาลชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้อง ของอัยการโจทก์จริง แต่ถ้าจำเลยไม่เห็นด้วยไม่พอใจในผลคำพิพากษา ก็ยังสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ ฎีกาได้ ตามกฎหมาย ซึ่งในอดีตมีคดีที่ศาลสูงเห็นต่างจากศาลชั้นต้นพิพากษากลับหรือแก้คำพิพากษาศาลล่าง ก็ไม่น้อย ดังนั้นเมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด การจะด่วนสรุปว่าอากงเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิด โดยเสร็จเด็ดขาดนั้น ก็ยังมิใช่เป็นเรื่องที่แน่แท้เสมอไปดังที่บางคนมีความเชื่อและเข้าใจในทำนองนั้น แท้จริงแล้ว อากงยังถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ข้อต่อมา ที่ว่าเหตุใดศาลจึงพิพากษาลงโทษถึงจำคุก ปกติการกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาท
หรือดูหมิ่นบุคคลธรรมดาที่เป็นการดูหมิ่นใส่ความทำให้ผู้เสียหายเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงเกียรติคุณอย่างร้ายแรง กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดมีโทษถึงจำคุก ศาลยุติธรรมก็เคยลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ มาแล้ว สำหรับคดีนี้ มีการใช้ถ้อยคำหยาบคายแสดงความอาฆาตมาดร้าย จาบจ้วงล่วงเกินพระมหากษัตริย์ และพระราชินีด้วยถ้อยคำภาษาที่ป่าเถื่อนและต่ำทรามอย่างยิ่ง เกินกว่าวิญญูชนคนทั่วไปจะพึงพูดจาดูหมิ่น เหยียดหยามกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้กระทำต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์พระประมุขของประเทศ อันเป็นที่เคารพยกย่องเทิดทูนของปวงชนชาวไทยและทั่วโลก ในหลวงทรงครองสิริราชย์มาเป็นเวลากว่า 65 ปี ทรงครองแผ่นดินด้วยหลักทศพิธราชธรรม ห่วงใยทุกข์เข็ญของอาณาประชาราษฎร์ตลอดเวลา แม้ในยามทรงพระประชวร พระองค์ก็ยังทรงงานเพื่อแก้ไขความทุกข์ยากของประชาชนเช่นอุกทุกภัยน้ำท่วม ในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทุ่มเทพระวรกายตลอดพระชนม์ชีพ ทรงงานเพื่อความผาสุก ของประเทศชาติและประชาชนทุกหมู่เหล่า ในกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ก็บัญญัติว่า "องค์พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงมิใช่คู่กรณีที่มีความขัดแย้งสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่จำเลยแม้แต่น้อยนิด รวมทั้ง พระองค์ท่านทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองจากมวลชนทุกหมู่เหล่า จึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยหรือ บางคนจะพยายามบิดเบือนว่า คดีนี้มาจากมูลฐานทางการเมือง ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไม่เป็นธรรมและห่างไกล จากความเป็นจริง

ข้อสอง คดีนี้มีข้อเท็จจริงบางประการที่ผู้วิจารณ์อาจยังรู้ไม่ครบถ้วนและเข้าใจ
คลาดเคลื่อนคือ นอกเหนือจากพฤติการณ์แห่งคดีหรือข้อความหมิ่นประมาทที่มีความรุนแรงและร้ายแรง
อย่างมากแล้ว ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า ผู้กระทำไม่ได้กระทำความผิดแค่ครั้งเดียว แต่มีการกระทำความผิด ต่างกรรมต่างวาระ ด้วยถ้อยคำดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายถึง 4 ครั้ง มีถ้อยคำ
ที่แตกต่างกันทุกครั้ง แสดงถึงเจตนาที่จงใจกระทำผิดกฎหมายอย่างท้าทายไม่ยำเกรงอาญาแผ่นดิน
ไม่มีจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธมาตลอดจนถึงในชั้นศาลจึงไม่มีเหตุลดโทษ บรรเทาโทษ ตามกฎหมาย ซึ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กฎหมายระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมาย

/ ระวาง ...

ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยในความผิดแต่ละครั้งจำคุกกระทงละ 5 ปี
ตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นโทษบทหนักนั้น เป็นการลงโทษสูงกว่าโทษขั้นต่ำของกฎหมายเพียง 2 ปี
ยังเหลืออัตราโทษอีก 10 ปี ที่ศาลมิได้นำมาใช้ เมื่อนำโทษทั้ง 4 กระทงมารวมกันเป็น 20 ปี คนทั่วไปที่ไม่รู้ จึงเข้าใจผิดคิดว่าศาลลงโทษครั้งเดียว 20 ปี เห็นว่าโทษหนักไป แต่ถ้าเทียบกับพฤติการณ์ความร้ายแรง แห่งคดีแล้ว หลายคนที่รู้จริงเห็นตรงข้ามว่าโทษเบาไปหรือเหมาะสมแล้วก็มี

ข้อสาม แม้สังคมทั่วไปจะเรียกจำเลยว่า “อากง” ฟังดูประหนึ่งว่าจำเลยชราภาพมากแล้ว
แต่ตามฟ้องจำเลยอายุ 61 ปี มิได้แก่ชราจนต้องอยู่ในความอนุบาลดูแลของผู้ใดสามารถเข้าใจและ
ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ แสดงว่าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และมิได้แก่เฒ่าคราวปู่ทวด สำหรับบุคคลที่ เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคมสถาบันหลักของประเทศชาติและองค์พระประมุข อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชาติให้เกิดความหลงผิดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่องหรือแก่ผู้อื่นอีก เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้ มาตรการที่เหมาะสมจึงควรตัดโอกาส ในการกระทำผิด ลงโทษให้หลาบจำสาสมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ที่กระทำความผิด คิดวางแผนไตร่ตรองในการกระทำความผิดอย่างแยบยลแนบเนียนด้วยแล้ว ก็ยิ่งสมควรใช้วิธีการที่เหมาะสม ในการคุ้มครองรักษาความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชนด้วย จึงไม่แน่แท้เสมอไปว่าชราชน ที่กระทำความผิดจะต้องได้รับการลดโทษ ลงโทษน้อย หรือปล่อยตัวไปเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อหาความผิด ความเสียหายและพฤติการณ์การกระทำแต่ละคดีที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป ส่วนการจะได้รับการประกันตัว หรือไม่ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ข้อเท็จจริงแห่งคดีเป็นเรื่องๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมาย
วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 ,มาตรา 108/1

ข้อสี่ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเกี่ยวกับ
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (International Covenant on Civil and Political Rights) ICCPR
ได้บัญญัติรับรองในข้อ19 ว่า
1) บุคคลมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากแทรกแซง
2) บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา
ได้รับและสื่อสารข้อมูลและความคิดทุกชนิด โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยการพิมพ์ ในรูปแบบของศิลปะหรือโดยสื่อประการอื่นใดที่บุคคลดังกล่าวเลือก
3) การใช้สิทธิตามวรรคสองของข้อนี้ต้องประกอบด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบ
อันเป็นพิเศษ ดังนั้น สิทธิดังกล่าวจึงอาจอยู่ภายใต้ข้อจำกัด บางประการ แต่ข้อจำกัดนั้นต้องเป็นไป
ตามที่กฎหมายบัญญัติและเท่าที่จำเป็น

/ (ก) ...


(ก) เพื่อเคารพต่อสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น
(ข) เพื่อคุ้มครองความมั่นคงแห่งชาติ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน สาธารณสุขหรือศีลธรรมอันดี
นอกจากนั้น กติการะหว่างประเทศฯ ยังได้ให้ความคุ้มครองสิทธิของบุคคลในการที่
จะไม่ถูกล่วงละเมิดทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือเกียรติภูมิไว้ด้วยตามข้อ 17 ซึ่งกำหนดว่า

“1. ไม่มีบุคคลใดที่จะต้องตกอยู่ภายใต้การแทรกแซงตามอำเภอใจหรือโดยมิชอบ
ด้วยกฎหมายต่อความเป็นส่วนตัว ครอบครัวหรือการติดต่อสื่อสาร หรือการโจมตีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อเกียรติภูมิและชื่อเสียง
2. บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจากการแทรกแซงหรือการโจมตี
เช่นว่านั้น”

ฉะนั้นแม้การแสดงความคิดเห็นถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่กติการะหว่างประเทศฯ
ให้การยอมรับ แต่ในขณะเดียวกัน กติการะหว่างประเทศฯ ก็ได้กำหนดไว้ด้วยว่าการใช้สิทธิดังกล่าว
ต้องทำด้วยความสำนึกรับผิดชอบและไม่ล่วงละเมิดสิทธิของบุคคล เนื่องจากบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิ
ในการรักษาชื่อเสียงและเกียรติภูมิของตนและต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายด้วยเช่นกัน
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR เป็น
สนธิสัญญา พหุภาคี ซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ให้การรับรองเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2509และมีผลใช้บังคับเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2519 สนธิสัญญานี้ให้คำมั่นสัญญาว่าภาคีจะเคารพสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของบุคคล ซึ่งรวมถึงสิทธิในชีวิต เสรีภาพในศาสนา เสรีภาพในการพูด เสรีภาพ ในการรวมตัว สิทธิเลือกตั้ง และสิทธิในการได้รับการพิจารณาความอย่างยุติธรรม จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 กติการะหว่างประเทศนี้มีประเทศลงนาม 72 ประเทศและภาคี 167 ประเทศ ประเทศไทย เข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญานี้โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 และมีผลบังคับใช้กับไทย เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2540 อันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 ที่ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การพิมพ์และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น แต่ เสรีภาพดังกล่าวก็ยังถูกจำกัดได้โดยกฎหมายหากเป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิ หรือความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน...” นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 5 บัญญัติว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต และมาตรา 421ก็บัญญัติว่า การใช้สิทธิ ซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีมาตรฐาน เช่นเดียวกับหลักการสากลข้างต้น อันแสดงว่าประเทศไทยให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน มีกฎหมาย ที่ความก้าวหน้าทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ เพียงแต่ภายใต้ระบอบการปกครองบ้านเมืองที่แตกต่างกัน

/ ทุก ...

ทุกประเทศจึงควรที่จะต้องให้เกียรติเคารพในความต่างที่เป็นจุดแข็งทางวัฒนธรรมและสังคมของแต่ละประเทศ หากผู้วิจารณ์คนใดยังศึกษาภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ไม่ลึกซึ้งถึงแก่นแท้หรือมีข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วนเพียงพอ ไม่เข้าใจในขนบธรรมเนียม ประเพณี สังคมประเทศใดแล้ว การแสดงความเห็นว่าศาลหรือกระบวนการยุติธรรม ของประเทศอื่นในทำนองห่วงใยว่าจะไม่มีมาตรฐานสากลนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง และหมิ่นเหม่ ต่อการกล่าวหากันอย่างไม่เป็นธรรม อาจทำให้คิดไปว่าผู้วิพากษ์เจือปนด้วยอคติที่ผิดหลงมีวาระซ่อนเร้น ประเทศไทยมีเอกราชทางการปกครองและการศาลมาช้านาน และประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อห้า กฎหมายทุกฉบับออกหรือตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นผู้แทนมาจากปวงชนชาวไทย
สามารถแก้ไขปรับปรุงและยกเลิกได้ ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าล้าสมัยไม่เหมาะสม ศาลเป็นเพียงผู้ใช้กฎหมาย ตามเจตนารมณ์ที่สภานิติบัญญัติตราขึ้น มีกฎหมายหลายฉบับเขียนให้ศาลแทบใช้ดุลพินิจไม่ได้หรือ ต้องลงโทษสถานหนักในบางข้อหาเช่น ผลิตนำเข้ายาเสพติดให้โทษประเภท 1 แม้เพียง 1 เม็ดหรือ ข้อหาฆ่าบุพการี ต้องประหารชีวิตสถานเดียว เป็นต้น แม้การแก้ไขยกเลิกกฎหมายจะกระทำได้ก็ตาม แต่ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน ความสงบเรียบร้อยของสังคมและผลกระทบข้างเคียงอื่นที่ อาจตามมาด้วย อย่าให้อารมณ์หรือกระแสแห่งการปลุกปั่นยั่วยุชักจูงไปในทางที่เสียหายได้
คดีอากงเป็นแค่ปฐมบทในการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลย ตามครรลอง
แห่งเสรีภาพที่กฎหมายเปิดช่องไว้ตราบใดที่คดียังไม่ถึงที่สุด การด่วนรวบรัดตัดความกล่าวโทษบุคคล
หรือองค์กรที่ทำหน้าที่รักษากติกาสังคมอาจยังไม่เป็นธรรมนัก อย่างไรก็ตาม คนทุกชาติ ทุกภาษา
ต่างหวงแหนรักในแผ่นดินเกิดของตนเองเคารพและศรัทธาในศาสดาที่เป็นผู้นำทางศาสนาของตนเอง
ความแตกต่างทางความคิดเชื้อชาติศาสนาการปกครองบ้านเมืองศิลปวัฒนธรรม ประเพณี มิใช่สิ่งผิดปกติ ในสังคมโลก แต่การกล่าวร้ายใส่ความ แสดงความอาฆาตมาดร้ายศาสดาของศาสนาอื่น เป็นพฤติการณ์ที่ ผู้เจริญมิสมควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะน้ำผึ้งหยดเดียวอาจกลายเป็นความหายนะของชาติได้ ดังนั้น หากท่านผู้อ่านอยากรู้ปัจจุบันและอนาคตของชาติใด ขอจงศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศนั้น สำหรับ ชาติไทยดำรงคงเอกราชมีเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย เป็นที่ชื่นชมยกย่องของคนทุกชาติทุกภาษา เพราะผู้คนในสังคมไทยยังมีความรักสามัคคี มีน้ำใจ เอื้ออาทรผ่อนปรนเข้าหากัน ไม่ก้าวร้าวรุนแรง โดยขาดสติไร้เหตุผลรักหวงแหน เทิดทูนในชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์จากรุ่นสู่รุ่น และ ปลูกฝังถ่ายทอดเป็นมรดกสู่ลูกหลานจนถึงปัจจุบัน หากคนไทยยังรักและภูมิใจในแผ่นดินเกิด ขอได้โปรด ช่วยกันรักษาสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ การจะติชมวิพากษ์เป็นเสรีภาพที่กระทำได้ ขอเพียงมีจิตเป็นกลาง ไม่มีอคติ และบนฐานคติที่สร้างสรรค์ พึงอย่าได้ใช้สิทธิส่วนตนเกินส่วนจนเกิน ขอบเขตก้าวล้ำสิทธิเสรีภาพผู้อื่น อย่าได้แสดงความพยาบาทอาฆาตมาดร้าย ประหัตประหารด้วยอาวุธ

/ ลมปาก ...

ลมปากและความเท็จต่อผู้อื่น โดยอ้างเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุอื่นมาสร้างความชอบธรรมแก่ตนเอง อย่าให้ลูกหลานในอนาคตเหลือแค่ความทรงจำแห่งความภาคภูมิในอดีตบนซากปรักหักพังของชาติไทย ที่ผองชนรุ่นปัจจุบันได้ทำลายล้างไปอย่างตั้งใจและมิได้ตั้งใจ ../.

สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ
โฆษกศาลยุติธรรม

0 comments:

Post a Comment