Thursday, September 6, 2012

คดีวิคเตอร์ บูท (อีกครั้ง)

คดีวิคเตอร์ บูท (อีกครั้ง)

        ผู้เขียนอ่านบทความคุณนิติภูมิ นวรัตน์ คอลัมน์ เบิกฟ้า ส่องโลก ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2553 โดยคุณนิติภูมินำข่าวแปลจากสำนักข่าว Ria Novosti และ ITar – TASS มาเล่าสู่ให้ฟังในฐานะพยานบอกเล่า ที่มิได้ฟังด้วยหู มิได้รู้ด้วยตนเอง ในบทความคำแปลดังกล่าวมีเนื้อหา ที่ชวนให้สงสัยอยู่ 2 เรื่องคือ 1. “ในแง่กฎหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่คำอธิบายอย่างมีสติหรือการแก้ตัวอะไรทั้งสิ้น เราแน่ใจเต็มที่ว่า การส่งออกวิคเตอร์ บูท ที่เกิดขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลจาก การกดดันทางการเมืองอย่างยิ่งของสหรัฐอเมริกาต่อรัฐบาลและศาลไทยสิ่งนี้เรียกได้อย่างเดียว ก็คือ การแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรม” และ 2. รัฐมนตรีต่างประเทศรัฐเซีย นายเซรเกย์ ลาฟรอฟ ให้สัมภาษณ์ในระหว่างการเยือนรัฐเคนยาว่า “กรณีวิคเตอร์ บูท นั้นเป็นเรื่องยาว ในวันนี้ กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียได้ออกแถลงการณ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ศาลอาญาไทยได้ตัดสินไปแล้ว 2 ครั้งว่า ความผิดของวิคเตอร์ บูท พิสูจน์ไม่ได้...”

ผู้เขียนขอถอดรหัส บทความในคอลัมน์คุณนิติภูมิข้างต้นดังนี้

1. มีการกล่าวหาว่าการส่งตัวนายวิคเตอร์ บูท ข้ามแดนไปประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2. ประเทศสหรัฐอเมริกากดดันและแทรกแซงศาลยุติธรรมไทยและ

3. คำสั่งศาลอาญาให้ยกคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน นายวิคเตอร์ บูท ทั้ง 2 คดี มีผลให้ต้องปล่อยตัวนายวิคเตอร์ บูท เป็นอิสระ
ผู้เขียนขอเฉลยความตามลำดับ ข้อแรก ในเรื่องนี้พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะผู้ร้องให้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้ส่งตัวนายวิคเตอร์ บูท ข้ามแดน 2 คดี ในคดีแรกขอให้ขัง นายวิคเตอร์ บูท เพื่อส่งตัวข้ามแดนไปดำเนินคดีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตาม คดีหมายเลขแดงที่ อผ.8/2552 คดีนี้ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้อง อัยการผู้ร้องอุทธรณ์ วันที่ 20 สิงหาคม 2553 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้ขังเพื่อส่งตัว นายวิคเตอร์ บูท ข้ามแดนกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และคดีถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์
ส่วนคดีที่ 2 อัยการผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2553 ขอให้ศาลอาญามีคำสั่งขัง นายวิคเตอร์ บูท เพื่อส่งตัวข้ามแดน ตามคดีหมายเลขดำที่ อผ. 4 /2553 ซึ่งศาลอาญาวินิจฉัยไว้ในคำสั่งคดีหลังนี้ว่าฐานความผิดของนายวิคเตอร์ บูท ตามคำร้องทั้งสองสำนวนเป็นคนละเรื่องคนละเหตุการณ์ไม่เป็นการฟ้องหรือร้องซ้ำกัน
นอกจากนี้ ทั้งสองคดีนายวิคเตอร์ บูทและทนายความได้ใช้สิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ไม่ปรากฏว่ามีขั้นตอนการดำเนินคดีที่ไม่ถูกต้องกฎหมายแต่ประการใดทั้งสิ้น อีกทั้งคดีทั้งสองเรื่องได้ดำเนินการภายใต้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ โดยถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
/ โดยเฉพาะ ...

โดยเฉพาะคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้อธิบายความโดยละเอียดชัดแจ้งทั้งในข้อเท็จจริงข้อกฎหมายและเหตุผลที่ศาลมีคำสั่งให้ขังนายวิคเตอร์ บูท ไว้เพื่อส่งตัวข้ามแดนไปดำเนินคดี ฯ และข้อต่อสู้ทุกข้อของนายวิคเตอร์ บูท ก็ได้มีการยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์แล้วทั้งหมด ความชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายล้วนมีคำตอบในคำพิพากษาโดยองค์กรตุลาการแห่งศาลไทยที่มีหน้าที่รักษากฎกติกาของบ้านเมืองและประเทศชาติให้ดำรงความถูกต้อง ซึ่งอาจไม่ถูกใจบางคนบางฝ่ายแต่คงไม่มีฝ่ายใดปฏิเสธความชอบธรรมตามหลักนิติธรรมได้ เว้นแต่เป็นความพอใจ ไม่พอใจ อันเป็นเหตุผลส่วนตนเท่านั้น
ประการที่สอง ประเทศไทยมีเอกราชทางการศาลตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ไม่มีศาลสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่มีผู้ใดมีอภิสิทธิเหนือกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทย ศาลยุติธรรมก่อตั้งถึงปัจจุบันร่วม 129 ปี แยกเป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2543 มีประธานศาลฎีกาเป็นประมุขและผู้บังคับบัญชาสูงสุด แยกออกจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่มีบุคคล องค์กรหรือชาติหนึ่งชาติใดมากดดันแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมไทย ในทางกลับกันผู้เขียนเชื่อว่า ประเทศเอกราชชาติที่เป็นอารยะทั้งหลายก็คงไม่ยอมให้รัฐบาลไทยไปกดดันแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของประเทศเหล่านั้นเฉกเช่นกัน ดังนั้นคำกล่าวว่า ประเทศสหรัฐอเมริกากดดันแทรกแซงศาลยุติธรรมไทยโดยปราศจากพยานหลักฐานจึงเป็นการปรามาสและดูหมิ่นศักดิ์ศรีกระบวนการยุติธรรมไทย ศาลยุติธรรมไทยและประเทศไทยอย่างยิ่ง
ข้อเฉลยสุดท้ายที่ว่า ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องขอส่งตัวนายวิคเตอร์ บูท ข้ามแดนไปดำเนินคดีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 2 ครั้งนั้น ก็ใช่ว่าคดีทั้งสองเรื่องจะถึงที่สุดในชั้นศาลอาญาและเป็นผลให้ต้องปล่อยตัวนายวิคเตอร์ บูท เป็นอิสระแต่อย่างใดไม่ เพราะในคดีแรกเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลอาญาให้ขังนายวิคเตอร์ บูท เพื่อส่งตัวข้ามแดนไปดำเนินคดีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและคดีถึงที่สุดแล้วเพียงแต่อยู่ระหว่างรอการส่งตัว
คงมีปัญหาว่า คดีที่ 2 ที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องอีกครั้งในวันที่ 20 สิงหาคม 2553 ขอให้ขังนายวิคเตอร์ บูท เพื่อส่งข้ามแดนเป็นอีกคดี มีเนื้อหาเป็นเช่นไร ผู้เขียนได้ติดตามข้อเท็จจริงในคดีหลังนี้ได้ความว่า เมื่อประเทศสหรัฐอเมริกาทราบว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ขังนายวิคเตอร์ บูท เพื่อส่งตัวข้ามแดน พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 2 กันยายน 2553 ขอถอนคำร้องในคดีที่สอง ตามคำร้องขอของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แต่นายวิคเตอร์ บูทและ
ทนายความได้คัดค้านคำร้องขอนั้น ต่อมาพนักงานอัยการผู้ร้องแถลงว่าเมื่อประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศผู้ร้องขอไม่ประสงค์จะยื่นคำร้องขอในคดีนี้ต่อไป พนักงานอัยการผู้ร้องจึงแถลงไม่ติดสืบพยาน ศาลอาญาจึงได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 5 ตุลาคม 2553 และให้เหตุผลในคำสั่งว่า เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ (ผู้ร้อง)ไม่พอเพียงแก่การรับฟังตามมาตรา 19 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องและให้ปล่อยตัวนายวิคเตอร์ บูท เมื่อสิ้นระยะเวลาเจ็ดสิบสองชั่วโมงนับแต่อ่าน
/ คำสั่ง ...

คำสั่งปล่อย ...” กรณีจึงเป็นการยกคำร้องขอของพนักงานอัยการผู้ร้องเฉพาะคดีที่สองเท่านั้น ข้อเท็จจริงปรากฏต่อไปว่า พนักงานอัยการผู้ร้องมิได้มีการอุทธรณ์โดยยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2553 ว่าไม่ประสงค์จะอุทธรณ์คดีนี้ต่อไป ดังนั้น แม้คดีที่สองจะถึงที่สุดตามคำสั่งศาลอาญาว่าให้ปล่อยตัว นายวิคเตอร์ บูท แต่ในคดีแรกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้ส่งตัว นายวิคเตอร์ บูท ข้ามแดนไปดำเนินคดีที่ประเทศสหรัฐอเมริกายังมีผลบังคับอยู่ และเมื่อรัฐบาลไทยได้พิจารณาให้ส่งตัวนายวิคเตอร์ บูท เป็นผู้ร้ายข้ามแดนตามคดีแรกแล้วจึงต้องดำเนินการส่งมอบตัว นายวิคเตอร์ บูท ให้แก่ประเทศผู้ขอตัวคือสหรัฐอเมริกา ให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดหรือวันที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดีแรก ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน ฯ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา
ข้อกล่าวหาเรื่อง ความไม่ชอบมาพากล ฉ้อฉลซ่อนเงื่อนหรือมีการกระทำที่เบือนบิดผิดกฎหมายในคดีนายวิคเตอร์ บูท คงมีเพียงลมปากที่กล่าวหาจากความรู้สึก ตามความเชื่อ ความเข้าใจหรือผลประโยชน์ส่วนตนที่มิใช่ภาวะวิสัย ผนวกกับพยานบอกเล่าที่มิได้รู้เห็นความจริง ไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ข้อกล่าวอ้าง จึงดูค่อนข้างเลื่อนลอยและง่ายดายเกินไปที่จะโยนเชื้อไฟเผาบ้านคนอื่น แล้วปล่อยให้เจ้าของบ้านที่มิได้เป็นตัวการรู้เห็นเป็นใจในการก่อเหตุ ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนตักน้ำดับไฟที่ คนลอบวางเพลิงเผายืนดูเหตุการณ์อยู่ข้างบ้านอย่างไม่มีเยื่อใยและไร้ความรับผิดชอบ

สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ
โฆษกศาลยุติธรรม

0 comments:

Post a Comment