Thursday, September 6, 2012

หลักประกันตัวในคดีอาญา



           
เมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นอันเริ่มต้นตั้งแต่ ชั้นตำรวจไปจนถึงศาลนั้น กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และระเบียบ ของหน่วยงานต่างๆเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่ว คราว
ในระหว่างการพิจารณาได้ โดยมิต้องถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีและมีสิทธิ์ร้องขอได้ ในทุกระดับชั้น ของกระบวนยุติธรรมผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว คือ ผู้ต้องหา จำเลย
หรือ ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น ญาติพี่น้อง คู่สมรส เป็นต้น
ผู้พิจารณาคำร้องขอดังกล่าว คือ
1. กรณีผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่และยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนหรืออัยการ เช่น ยังอยู่ในการสอบสวนของตำรวจ ต้องยื่นแก่พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบในคดีและจะมีระเบียบของหน่วยงานกำหนด ขอบอำนาจ
หน้าที่ ของนายตำรวจในการใช้ดุลพินิจไว้หากมีการส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ
อำนาจพิจารณาจักอยู่ที่พนักงานอัยการซึ่งดูแลคดีดังกล่าว
2. กรณีผู้ต้องหาถูกฟ้องต่อศาลแล้ว ต้องยื่นที่ศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาคดีนั้นระยะเวลาในการปล่อยชั่วคราว สำหรับกรณีในชั้นตำรวจหรืออัยการ มีผลใช้ได้ระหว่างการสอบสวน หรือจนกว่าผู้ต้องหาถูกศาลสั่งขังระหว่างสอบสวน หรือ จนถึงศาลประทับฟ้อง แต่มิให้เกิน 3 เดือนนับแต่วันแรกที่มีการปล่อยชั่วคราว แต่อาจยืดเวลาได้เกินกว่านั้น แต่มิให้เกิน 6 เดือน ในกรณีมีเหตุจำเป็นที่การสอบสวนไม่อาจเสร็จภายในกำหนด 3 เดือนได้ ซึ่งเป็นอำนาจเฉพาะทั้งของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการส่วนกรณีอยู่ใน อำนาจของศาล จักเป็นไปตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญากำหนดไว้
จำนวนวงเงินประกันในแต่ละหน่วยงานโดยสังเขปดังนี้
1. กรณีของตำรวจหรือพนักงานอัยการ จะมีระเบียบภายในกำหนดรายละเอียดลักษณะคดี หลักประกันที่พึงใช้ วงเงินแต่ละประเภทคดีไว้ เพื่อใช้ประกอบดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
2. กรณีของศาลซึ่งมีข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยกาารปล่อยชั่วคราวในคดี อาญา พ.ศ. 2548 กำหนดแบ่งประเภทคดีหรือวงเงินประกัน ดังตัวอย่าง เช่น 
 ความผิดลหุโทษหรือมีโทษปรับสถานเดียว ให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกัน หากมีเหตุจำเป็นต้องมีประกันก็ให้กำหนดวงเงินไม่เกินกึ่งหนึ่งของอัตราโทษ ปรับขั้นสูงสำหรับความผิดนั้น
คดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี อาจปล่อยตัวโดยไม่ต้องมีประกันก็ได้ หากมีเหตุจำเป็นต้องมีประกันให้กำหนดวงเงินไม่เกิน 100000 บาท เว้นแต่มีเหตุสมควรสั่งเป็นอย่างอื่น ก็ต้องระบุเหตุนั้นให้ชัดเจน
คดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 5 ปี อาจปล่อยชั่วคราวโดยต้องมีประกัน แต่ไม่ต้องมีหลักประกันก็ได้ ส่วนวงเงินประกันต้องไม่สูงเกินควรแก่กรณี
กรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 3 ปี ไม่ว่าจะเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ก็ตาม ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ฎีกาได้โดยมี ประกันและหลักประกัน แต่วงเงินประกันไม่ควรสูงเกินกว่า 100,000 บาท
กรณีที่ถูกลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 3 ปี และศาลเห็นสมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ฎีกาได้โดยมีประกัน และหลักประกัน หากศาลเห็นสมควรกำหนดวงเงินประกันให้สูงขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ กำหนดไว้ ก็ให้กำหนดวงเงินประกันเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่ควรเพิ่มเกินกึ่งหนึ่ง
หากผู้ขอประกันเป็นญาติพี่น้องหรือมีความเกี่ยวพันโดยทางสมรสใช้เงินสด หลักทรัพย์มีค่าที่มีมูลค่าแน่นอนและสะดวกแก่การบังคับคดีเป็นหลักประกัน ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยให้ผู้ขอประกันวางเงินสดหรือหลักทรัพย์นั้น เพียงจำนวนร้อยละ 20 จากจำนวนวงเงินประกันที่ศาลกำหนดก็ได้ ส่วนกรณีความผิดที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยกระทำด้วยความจำใจหรือด้วยความยากจน ศาลจะกำหนดวงเงินให้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติก็ได้
กรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นหญิงมีครรภ์ หรือมีบุตรอายุไม่เกิน 3 ปีอยู่ในความดูแลหรือเป็นผู้เจ็บป่วยซึ่งถ้าต้องขังจะเป็นอันตรายอย่างร้าย แรงต่อสุขภาพ หรือเป็นผู้พิการหรือสูงอายุ ซึ่งโดยสภาพร่างกายหรือจิตใจอาจเกิดความทุกข์ยากลำบากเกินกว่าปกติในระหว่าง ต้องขัง ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักประกันหรือกำหนดวง เงินประกันให้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
กรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเด็กหรือ เยาวชน ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนใช้ดุลพินิจกำหนดวงเงินประกันตาม ที่ศาลเห็นสมควร แต่ต้องไม่สูงกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
ประเภทของหลักประกันซึ่งนำไปใช้ได้ทั้งที่ศาลหรือตำรวจหรืออัยการ ได้แก่
1. โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด และหนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน และต้องไม่มีภาระผูกพันอันกระทบต่อการบังคับคดีด้วย
2. หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่น เช่น พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน ใบรับฝากประจำของธนาคาร เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือรับรองซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ในวันทำ สัญญาประกัน
เมื่อทำสัญญาประกันแล้ว ศาลจะมีหนังสือแจ้งอายัดไปยังสำนักงานที่ดินหรือธนาคารโดยทันที และเมื่อสัญญาประกันสิ้นสุดต้องรีบแจ้งยกเลิกอายัดโดยเร็วเช่นกัน
3. การใช้บุคคลเป็นประกัน ซึ่งต้องมีลักษณะโดยสังเขปดังนี้
3.1 เป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน เช่น ข้าราชการ ทนายความ เป็นต้น
3.2 ต้องเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง เป็นต้น
กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นพนักงานหรือผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะ เช่น แพทย์ เภสัชกร วิศวกร สถาปนิก ทนายความ ผู้สอบบัญชี ครู สื่อมวลชน เป็นต้น และถูกกล่าวว่ากระทำความผิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติงานใน การประกอบวิชาชีพนั้น ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยทำสัญญาประกันตนเองได้ในวงเงินไม่เกิน 15 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
กรณีศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว อาจเลือกทำข้อใดข้อหนึ่งได้คื
1. ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ หากมีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นไม่อนุญาตเช่นเดียวกัน คำสั่งศาลอุทธรณ์จักถือเป็นที่สุด มิอาจยื่นฎีกาต่อศาลสูงสุดได้ แต่กฎหมายไม่ตัดสิทธิในการยื่นคำร้องใหม่
2. ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวใหม่
กรณีผิดสัญญาประกัน
1. ชั้นตำรวจหรือพนักงานอัยการ มีสิทธิริบเงินประกันตามสัญญาได้ทันที โดยมีระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานกำหนดขั้นตอนไว้
2. ชั้นศาล สั่งบังคับตามสัญญาประกัน โดยมิต้องฟ้องอีกครั้ง แต่ให้อำนาจอุทธรณ์ได้ โดยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
ข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าวเป็นการบอกเล่าให้เข้าใจอย่างง่ายๆ และขอย้ำว่าการสั่งปล่อยชั่วคราวในแต่ละคดีนั้น กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องปล่อยทุกกรณี แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้มีอำนาจจะเห็นสมควร

0 comments:

Post a Comment