Thursday, September 6, 2012

การปล่อยชั่วคราวกับการถอนประกัน

 การปล่อยชั่วคราวกับการถอนประกัน
 
              ในบรรดาสิ่งที่มนุษย์ไขว่คว้าแสวงหาต้องการและถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่าสำคัญมากที่สุดในชีวิตคือ “อิสรภาพ” หรือ “เสรีภาพ” (Freedom) อันเป็นหลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights ) หรือสิทธิธรรมชาติ (Natural Rights) ที่พึงมีพึงได้รับตั้งแต่แรกเกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่ว่าบุคคลนั้นจะถือกำเนิดเกิดมา ในชนชาติใดหรือประเทศหนึ่งประเทศใดในโลกนี้


           “อิสรภาพ” หรือ เสรีภาพ หมายถึงความเป็นใหญ่ ความเป็นไทแก่ตัว ไม่ถูกผูกมัดรัดตรึง ด้วยพันธนาการใด ๆ จากผู้ใช้อำนาจรัฐหรือกฎหมายโดยละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น เสรีภาพการพูดการสื่อสารแสดงความคิดเห็นชุมชนโดยชอบในชีวิตร่างกายเกียรติยศ ชื่อเสียง การถือครองทรัพย์สิน การเดินทาง การเลือกที่อยู่อาศัย การนับถือลัทธิศาสนา และการไม่ถูกจับกุมคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามหลักสิทธิจากรัฐ ได้รับการสันนิษฐานตามกฎหมายแห่งรัฐและหลักการสากลว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบจนกว่า จะมีการพิสูจน์ว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามกฎหมาย โดยผ่านการวินิจฉัยชี้ขาดจากองค์กรตุลาการหรือหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมของรัฐที่มีความเป็นอิสระเป็นธรรมและเป็นกลาง อย่างเปิดเผย ตรวจสอบได้ ปราศจากการถูกแทรกแซงครอบงำในการปฏิบัติหน้าที่

              บางครั้งอุบัติเหตุชีวิตก็ไม่ต่างจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ท้องทะเลหรือห้วงนภากาศ ที่อาจมีการบาดเจ็บล้มตายจากอุบัติภัยที่เป็นความประมาทคาดไม่ถึง เช่นเดียวกับเหตุร้ายที่กรายกล้ำทั้งโดยเจตนาหรือมิได้เจตนาในบางครั้ง ทำให้บุคคลต้องตกเป็นผู้ร้าย อาชญากร ถูกต้องหาว่าคบคิดกระทำความผิดกฎหมายอาญาที่มีโทษร้ายแรง กลายเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ที่กฎหมายกำหนดโทษรุนแรงสูงสุดตั้งแต่ประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ต้องถูกจับกุม ควบคุม คุมขังในทัณฑสถานหรือเรือนจำ เว้นแต่จะได้รับการประกันตัวจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่มีอำนาจเช่น ตำรวจ อัยการ หรือศาลยุติธรรม

เป็นธรรมดาของผู้ต้องหรือจำเลยที่ต้องหาว่ากระทำความผิดเกือบทุกคนที่ถูกคุมขังจำกัดอิสรภาพหรือเสรีภาพส่วนตน ย่อมต้องแสวงหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน รวมทั้ง ขอประกันตัว หรือ ขอปล่อยชั่วคราว เพื่อมาใช้ชีวิตอย่างมีอิสรภาพหรือเสรีภาพชั่วคราวจนกว่าจะมีการพิสูจน์ความผิด กรณีจึงเกิดข้อสงสัยในสังคมจำนวนไม่น้อยว่า ตำรวจ อัยการ และศาลใช้หลักเกณฑ์อะไรมาเป็นมาตรการในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจำเลย ผู้เขียนขอเป็นผู้เฉลย และนำประสบการณ์ส่วนตัวมาขยายความเล่าสู่ เพื่อมิให้ผู้ไม่รู้ตกเป็นเหยื่อของผู้แสวงหาประโยชน์ในทางคดีแอบอ้างสร้างฉากหลอกลวงซ้ำเติมประชาชนผู้ประสบเคราะห์กรรมต้องเสียเงินเสียทรัพย์ เสียใจและ เสียค่าใช้จ่ายซ้ำสอง

          ผู้เขียนขออนุญาตรวบรัดตัดความว่า เมื่อมีการนำผู้ต้องหามาผัดฟ้องฝากขัง หรือฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล ผู้ต้องหา จำเลยญาติหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียของผู้นั้นเช่น นายจ้างผู้บังคับบัญชาสามารถยื่นคำร้อง ขอประกันตัวหรือขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ โดยหลักกฎหมายหรือหลักปฏิบัติของศาลที่ยึดถือกันมาช้านานคือ ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 107 แต่ในความเป็นจริง อาจมีผู้ต้องหาหรือจำเลยกลุ่มหนึ่งรือบางส่วนที่แม้จะขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ท่วมท้น แต่ศาลชั้นต้นและศาลสูงก็ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เช่น ผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ค้าผู้ผลิตยาเสพติดรายใหญ่ ยาบ้าและของกลางมีจำนวนนับแสนหรือล้านเม็ด คดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญสังคมที่ผู้กระทำผิดมีความทารุณโหดร้าย เช่น ข่มขืนฆ่าหลายศพ และมีแนวโน้มอาจกระทำผิดซ้ำ ผู้ต้องหาหรือจำเลยชาวต่างประเทศที่ลักลอบซุกซ่อนเฮโรอีนหรือยาเสพติดอื่นเพื่อนำเข้ามาหรือออกไปใน นอกราชอาณาจักรโดยของกลางมีจำนวนมาก เป็นต้น

             หลักการหรือหลักกฎหมายสำคัญที่ศาลใช้เป็นแนวทางเงื่อนไขการประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวคือมาตรา 108, 108/1 , 108/2 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่กำหนดว่า “ ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ ประกอบ (1) ความหนักเบาแห่งข้อหา (2) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด (3) พฤติกรรมต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร (4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด (5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่ (6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่และ (7) ฟังคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการโจทก์หรือผู้เสียหายแล้วแต่กรณี ” รวมทั้งระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2548 เพื่อประกอบการวินิจฉัย
ส่วนการสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวมาตรา 108/1 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อ เหตุใด เหตุหนึ่งดังต่อไปนี้(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี (2) จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน (3) จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น (4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ (5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล...”
การยื่นขอประกันตัว หากศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ผู้ขอประกันก็สามารถขอซ้ำขอใหม่ได้อีกจนกว่าคดีจะเสร็จการพิจาณาพิพากษาในศาลชั้นต้น หรือจะเลือกอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ได้ตามมาตรา 119 ทวิ ในการปฏิบัติมีคดีที่จำนวนไม่น้อยที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแต่ศาลสูงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ทั้งนี้เป็นกระบวนการทบทวน ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษาต่างศาลอันเป็นหลักการสากลทั่วไป เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มากที่สุด

ข้อคำถามหรือประเด็นที่เป็นที่สงสัยสนใจของผู้คนในสังคมไม่น้อยกว่าหลักเกณฑ์การขอประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราว ก็คือ การขอให้ศาลถอนประกัน ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับอนุญาตจากศาล จะสามารถกระทำได้หรือไม่อย่างไรภายใต้หลักเกณฑ์ใด

           ในข้อแรก ถ้ายึดถือตามตัวบทกฎหมาย การขอถอนสัญญาประกันหรือขอถอนหลักประกัน ย่อมกระทำได้เมื่อผู้ทำสัญญามอบตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคืนต่อศาล (มาตรา 116) ซึ่งเป็นเจตนาของนายประกันที่ไม่ประสงค์จะประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อไป กรณีนี้นายประกันหรือผู้ขอประกันต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งศาลเพื่อออกหมายขังควบคุมตัวและขอถอนหลักประกันไป

         ข้อที่สอง การขอถอนประกันโดย ตำรวจ อัยการ โจทก์ ผู้เสียหายหรือพยานผู้ได้รับผลร้ายจากการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลยขอให้ศาลถอนประกันบุคคลดังกล่าวเนื่องจากมีการละเมิดคำสั่งห้ามของศาล ในการปล่อยชั่วคราวเช่น มีพฤติการณ์ข่มขู่ทำร้ายพยาน ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไปกระทำความผิดซ้ำ ในเรื่องเดียวกันหรือคดีอื่นอีก ไม่มาตามนัดที่ศาลกำหนดไว้หลายครั้งโดยปราศจากเหตุผลที่รับฟังได้ มีพฤติการณ์เข้าข่ายจะหลบหนีหรือเหตุทำนองเดียวกับมาตรา 108/1 ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องหรือทราบเหตุ จะทำการไต่สวนพยานบุคคลหรือพิจารณาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเช่น วัตถุพยานจากภาพและเสียงประกอบ เพื่อชั่งน้ำหนักว่า มีข้อเท็จจริงตามที่มีการกล่าวอ้างร้องขอให้ถอนประกันหรือไม่ และมีเหตุผลเพียงพอที่จำต้องถอนประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยเพื่อนำตัวมาควบคุมในเรือนจำหรือทัณฑสถานหรือไม่ รวมทั้งพิจารณาผลดีผลเสียจาก การถอนประกันที่จะเกิดขึ้นกับผู้ต้องหาจำเลยและบุคคลในครอบครัว อาชีพ การงาน และเหตุผลแวดล้อมอื่น ๆ ประกอบด้วย
เมื่อครั้งผู้เขียนรับราชการเป็นผู้พิพากษาอยู่ต่างจังหวัดทางภาคใต้มีคดีข้อหาพยายามฆ่าเรื่องหนึ่ง ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนประกัน เนื่องจากจำเลยข่มขู่ผู้เสียหายซึ่งเป็นประจักษ์พยาน ผู้เสียหายเกรงว่าจะถูกปองร้ายหมายเอาชีวิตก่อนมาเบิกความ ผู้เขียนในฐานะเจ้าของสำนวนจึงได้ทำการไต่สวนพยานผู้เสียหายได้ความเพียงว่า บ้านผู้เสียหายกับบ้านจำเลยอยู่ในซอยเดียวกัน โดยจำเลยอยู่ท้ายซอย ผู้เสียหายอยู่กลางซอย เวลาที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปกลับผ่านหน้าบ้านผู้เสียหาย จำเลยมักจะมองเข้าไปในบ้านผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายเกิดความหวาดกลัวแต่จำเลยไม่เคยใช้อาวุธหรือวาจาข่มขู่ ไม่มีพฤติการณ์อื่นใด นอกจากมองผ่านแล้วจากไป ผู้เขียนปรึกษาผู้พิพากษาองค์คณะแล้ว เห็นว่าผู้เสียหายอาจหวั่นไหวใจระแวงเกินสมควรแก่เหตุ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์ข่มขู่ผู้เสียหายซึ่งเป็นพยาน จึงยกคำร้องไป แต่ก็มีคดีบางเรื่อง ไต่สวนแล้วมีมูลความจริง ผู้เขียนก็เคยถอนประกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์และข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป


อย่างไรก็ตาม จำเลยหรือผู้ต้องหาที่ถูกอีกฝ่ายร้องขอให้ศาลถอนประกัน ก็มีสิทธินำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างเพื่อแสดงว่า ตนเองมิได้ประพฤติปฏิบัติเช่นที่ถูกกล่าวหา กรณีเป็นเรื่องถูกกลั่นแกล้งแต่งเติมพยานหลักฐาน รวมทั้งสามารถอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลหากกรณีเป็นผลร้ายแก่ตนเพราะถูกศาลถอนประกัน


ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่ว่าบุคคลหรือองค์กรใดที่ทำหน้าที่ชี้ถูกผิดในข้อพิพาทมีหน้าที่ให้คุณให้โทษอันกระทบกับสิทธิเสรีภาพของบุคคล ย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ผลพวงอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ผู้สมประโยชน์ย่อมพอใจนิยมชมชื่นว่า ผู้ชี้ขาดตัดสินมีความเป็นธรรมล้ำเลิศ ผู้เสียประโยชน์และได้รับผลร้าย ย่อมรู้สึกว่าตนเองไม่ได้ความยุติธรรมถูกเลือกปฏิบัติ เป็นสองมาตรฐาน หรือเป็นแพะที่ถูกป้ายสีเป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้เขียนเชื่อต่อไปว่าถ้าผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมหรือฝ่ายอื่นก็ดี ใช้ดุลยพินิจปฏิบัติหน้าที่ตามหลักกฎหมายหลักนิติธรรม และกอปรด้วยคุณธรรมจริยธรรมปราศจากอคติเป็นที่ตั้งแล้ว สังคมควรต้องยอมรับคำวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าว มิฉะนั้นกฎหมู่ก็จะอยู่เหนือกฎหมาย ความระส่ำระสายไร้ขื่อแปเอาอำเภอใจเป็นที่ตั้งก็จะเกิดขึ้น กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ความสงบสุข ร่มเย็น เป็นสุขในชาติ ก็เป็นแค่วลีนามธรรมที่เลิศหรูแต่จับต้องเป็นจริงไม่ได้เพราะเป็นความเฟ้อฝันในยามนิทราเท่านั้น

สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ 
โฆษกศาลยุติธรรม

0 comments:

Post a Comment