Thursday, September 6, 2012

การพิสูจน์พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในคดีแพ่ง

การพิสูจน์พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในคดีแพ่ง

                การพิสูจน์ความจริงในศาลสิ่งที่สำคัญได้แก่ การพิสูจน์พยานหลักฐาน ซึ่งพยานหลักฐานตามอธิบายทางวิชาการของประเทศไทย มักจะแบ่งพยานหลักฐานเป็น 3 ประเภท ได้แก่ พยานบุคคล พยานวัตถุ และพยานเอกสาร อย่างไรก็ตาม วิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าขึ้นมาเป็นลำดับ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายเริ่มให้ความสำคัญกับพยานหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ หรือที่เราเรียกกันทั่วๆ ไปว่า “พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์”
เดิมที พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ไม่มีการกล่าวไว้โดยเฉพาะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือวิธีพิจารณาความอาญา อาจจะเป็นเพราะวิทยาการในยุคสมัยของการร่างกฎหมาย หรืออาจจะเป็นเพราะการพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์ถือเป็นเพียงวิธีการที่ให้พยานหลักฐานมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ หาใช่ประเภทของพยานหลักฐานตามที่กล่าวอ้างไว้ไม่ แต่อย่างไรก็ตาม การที่พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้รับความเชื่อถือมากยิ่งขึ้นและเห็นว่าสามารถชี้พิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ โดยมีข้อโต้เถียงน้อยกว่าพยานในลักษณะอื่น ทำให้มีการกล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความเพื่อให้เกิดการบังคับให้มีการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้มายิ่งขึ้น
เมื่อมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับที่ 23 พ.ศ. 2550 ประเด็นเกี่ยวกับพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้มีการหยิบยกขึ้นอภิปรายในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการกล่าวถึงความจำเป็นของพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการนำมาพิสูจน์ความจริงแห่งคดีโดยเฉพาะคดีที่มีการกล่าวอ้างถึงความเป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ ณ ขณะนั้นได้ หากคู่ความไม่ให้ความร่วมมือ ศาลไม่มีอำนาจสั่งบังคับให้มีการตรวจพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ถึงแม้จะนำไปซึ่งคำตอบของความเป็นจริงก็ตาม สิ่งที่ศาลจะทำได้ก็คือการมีคำสั่งให้ทำการสืบพยานแวดล้อมไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุดก็อาจจะได้ความจริงจากพยานแวดล้อมนั้น แต่ผลที่ตามที่เด่นชัดคือการเสียค่าใช้จ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงความไม่แน่นอนของความจริงนั้น
การอภิปรายถกเถียงดังกล่าว นำมาสู่การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยเพิ่มบทบาทศาลในการค้นหาความจริง รวมทั้งยังเพิ่มหน้าที่คู่ความที่ต้องให้ความร่วมมือในการค้นหาความจริงกับศาลอีกด้วย ด้วยความเชื่อต่อพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในแง่ของการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องมีการเก็บตัวอย่างจากอวัยวะหรือส่วนประกอบของบุคคลไม่จำกัดเพียงคดีครอบครัวคดีประเภทอื่น เช่น คดีละเมิด ที่มีความจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็สามารถนำมาใช้ได้ โดยบทบัญญัติมาตรา 128/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้บัญญัติไว้ดังนี้
“มาตรา 128/1 ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงใด ที่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่าย
หนึ่งร้องขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุหรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้

           ในกรณีที่พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ทำให้ศาล วินิจฉัยชี้ขาดคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานอื่นอีก เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลอาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันสืบพยานตามปกติก็ได้ในกรณีที่การตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองจำเป็นต้องเก็บตัวอย่าง เลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลายหรือสารคัดหลั่งอื่น สารพันธุกรรม หรือส่วนประกอบอื่นของร่างกาย หรือสิ่งที่อยู่ในร่างกายจากคู่ความหรือบุคคลใด ศาลอาจให้คู่ความหรือบุคคลใดรับการตรวจพิสูจน์จากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นได้ แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควรทั้งนี้ ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลนั้นที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้
ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง หรือไม่ให้ความยินยอมหรือกระทำการขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้ความยินยอมต่อการตรวจเก็บตัวอย่าง ส่วนประกอบของร่างกายตามวรรคสาม ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง
ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ตามมาตรานี้ ให้คู่ความฝ่ายที่ร้องขอให้ตรวจพิสูจน์เป็นผู้รับผิดชอบ โดยให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียม แต่ถ้าผู้ร้องขอไม่สามารถเสียค่าใช้จ่ายได้หรือเป็นกรณีที่ศาลเป็นผู้สั่งให้ตรวจพิสูจน์ ให้ศาลสั่งจ่ายตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด ส่วนความรับผิดในค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เป็นไปตาม”
การพิสูจน์ประเด็นที่โต้เถียงกันในคดีแพ่งเป็นเรื่องการค้นหาความจริงระหว่างคู่ความ หากคู่ความนำสืบพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เองก็ไม่มีอะไรห้ามมิให้ดำเนินการ ในกรณีที่ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์นั้นสามารถพิสูจน์ประเด็นสำคัญแห่งคดีที่ส่งผลให้แพ้ชนะคดีได้แล้ว เมื่อศาลหรือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอแล้ว ศาลก็มีอำนาจออกคำสั่งให้มีการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ก็มีอำนาจทำได้
การตรวจพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์นี้ บุคคลที่ถูกตรวจนั้นไม่จำกัดเพียงคู่ความในคดี แต่ยังสามารถตรวจบุคคลภายนอกได้อีกด้วย ในการตรวจก็ยังไม่จำกัดเพียง DNA ยังรวมถึงตัวอย่างเลือด เส้นผม เส้นขน เป็นต้น ทั้งนี้กฎหมายบัญญัติไว้ให้ครอบคลุมพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทุกประเภทที่สุด

            ในการร้องขอให้มีการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานประเภทนี้ศาลอาจมีคำสั่งหรือคู่ความสามารถร้องขอได้ตั้งแต่ก่อนวันสืบพยาน นั่นหมายความว่า ตั้งแต่มีการยื่นคำฟ้อง คู่ความอาจมีคำร้องขอต่อศาลหรือหากมีการชี้สองสถานแล้วศาลเห็นว่า การตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานประเภทนี้จะพิสูจน์ความจริงได้ หรือกระทั่งผ่านขั้นตอนดังกล่าวแล้วคือในวัน
สืบพยานศาลหรือคู่ความเพิ่งทราบถึงความจำเป็นของพยานหลักฐานประเภทนี้ก็สามารถสั่งหรือขอให้มีการตรวจได้

            ในกรณีที่คู่ความไม่ยินยอมหรือความร่วมมือ ศาลไม่อาจจะไปบังคับแก่คู่ความฝ่ายนั้นได้ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่า การตรวจพิสูจน์นี้เป็นสิทธิของคู่ความหรือของบุคคลนั้นเพราะเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล จึงได้กำหนดให้เป็นสิทธิของบุคคลที่จะให้ความยินยอมหรือไม่ก็ได้ แต่ได้กำหนดบทลงโทษโดยให้สันนิฐานไว้ก่อนว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง ซึ่งเป็นบทสันนิฐานเบื้องต้น สำหรับคู่ความฝ่ายที่ปฏิเสธนั้นต้องหน้าที่นำสืบพิสูจน์หักล้างข้อเท็จจริงในประเด็นนั้น อันเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ไปให้กับคู่ความที่ไม่ให้ความร่วมมือ
ทั้งนี้หากศาลมีคำสั่งหรือคู่ความร้องขอให้มีการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์กับบุคคลภายนอกแล้ว แต่บุคคลนั้นได้ปฏิเสธแล้ว บทลงโทษข้างต้นไม่สามารถนำมาใช้ได้เพราะกฎหมายไม่ได้ได้เขียนลงโทษไว้ อีกทั้งเรื่องนี้เป็นคดีแพ่งที่เป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนอันเป็นผลประโยชน์ส่วนบุคคล เมื่อบุคคลคลภายนอกไม่ยินยอมแล้วต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยไม่น่าจะมีผลกระทบกับเนื้อหาแห่งคดี

         ในด้านค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ การพิสูจน์พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มีราคาแพง กฎหมายไม่ประสงค์จะให้ใช้มาตรานี้โดยไม่จำเป็นจึงบัญญัติให้ใช้เฉพาะในประเด็นสำคัญแห่งคดีเท่านั้นโดยให้ถือว่าค่าใช้จ่ายนี้เป็นค่าฤชาธรรมเนียมแต่หากศาลเป็นผู้สั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์ ศาลจะสั่งจ่ายตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด
บทบัญญัติมาตรา 128/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้ เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่การพิสูจน์ความจริงในศาล เพราะทำให้ศาลสามารถใช้อำนาจในการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้ และจะทำให้การค้นหาความจริงและการตัดสินวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลมีความแม่นยำและเป็นที่ยอมรับของประชาชนได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม


นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ
โฆษกศาลยุติธรรม

นางสาวเปรมรัตน์ วิจารณาญาณ
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา

0 comments:

Post a Comment