Thursday, September 6, 2012

มุทิตาจิต คุรุเมธี 84 ปี ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ กรัยวิเชียร

มุทิตาจิต คุรุเมธี 84 ปี ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ กรัยวิเชียร

        หากเอ่ยชื่อ “ธานินทร์ กรัยวิเชียร” น้อยนักที่ผู้คนในสังคมไทยและต่างชาติจะไม่รู้จัก เพราะไม่
เพียงแต่ท่านเคยเป็นอดีตผู้พิพากษา อาจารย์สอนวิชากฎหมาย อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว ท่านยังดำรง
ตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถและ ตำแหน่งองคมนตรีตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบัน
นอกจากตำแหน่งสำคัญที่กล่าวถึง ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ ยังมีประวัติชีวิต ผลงานและการ
ประพฤติดำรงตนที่น่าสนใจยิ่ง ควรแก่การนำมาถ่ายทอดเพื่อให้เยาวชนบุคคลทุกสาขาอาชีพในสังคมไทยได้ ทราบและยึดถือเป็นแบบอย่าง

ชาติกำเนิด ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ เกิดวันที่ 5 เมษายน 2470 ที่กรุงเทพมหานครเป็น
บุตรชายคนเดียวและคนสุดท้ายของนายแหกับนางผอบ กรัยวิเชียร สมรสกับคุณหญิงคาเร็น (เอนเดอเซ่น) กรัยวิเชียร มีบุตรธิดา 5 คน ที่โดดเด่นเป็นที่รู้จัก เช่น คุณนิติกร กรัยวิเชียร ผู้มีพรสวรรค์ในการถ่ายภาพ ระดับมืออาชีพ

   การศึกษา ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ เข้ารับการศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสวัสดิ์ศึกษา
โรงเรียนวัดสระเกศ และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยตามลำดับ ในปี 2485 ศึกษาที่
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมือง จนสำเร็จเป็นบัณฑิตรุ่น 5 จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อวิชา
กฎหมายที่ประเทสอังกฤษ ได้รับปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต ( Bachelor of Law London school และ
Bachelor of Economics University of London England ) และสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษจาก
สำนักอบรมศึกษากฎหมายเกรย์อินน์แห่งเนติบัณฑิต สภาอังกฤษ (Barrister at law Gray’s Inn London) ในปี2496 และ 2497 ตามลำดับ
ชีวิตครอบครัว ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ ได้พบกับคุณหญิงคาเรนที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งไป
ศึกษาร่ำเรียนวิชาการเรือนและทำงานที่ประเทศอังกฤษ ทั้งสองต้องอัธยาศัยซึ่งกันและกัน มีทัศนคติตรงกัน หลายเรื่อง จึงเกิดเป็นความรักความผูกพันและกลายเป็นคู่ชีวิตกันในท้ายที่สุด
คุณหญิงคาเรนมีบทบาทและอิทธิพลต่อชีวิตครอบครัวและเป็นกำลังใจที่สำคัญแก่ศาสตราจารย์
พิเศษธานินทร์เป็นอย่างยิ่ง โดยท่านให้สัมภาษณ์ว่า “ ...คาเรนเป็นทั้งภริยา เป็นแม่ของลูกและเป็นเพื่อน คู่คิดของผม สมัยก่อนเงินเดือนผู้พิพากษายังน้อยอยู่และเศรษฐกิจในบ้านเมืองก็ฝืดเคือง คาเรนจึงช่วยหา รายได้เสริมให้กับครอบครัวด้วยการทำขนมขายส่ง ทำให้ผมมีโอกาสทำงานในวิชาชีพที่รักต่อไป เมื่อผมมี ปัญหาหรือกังวลใจคาเรนก็ให้คำปรึกษาและเป็นกำลังใจให้ผมเสมอโดยไม่เคยก้าวล่วงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับงานใน หน้าที่ราชการของผมเลย แม้ช่วงเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอันตรายมาก คาเรนก็สู้เต็มที่ยืดหยัดเคียงข้าง และ พร่ำเตือนผมให้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อย่าแสวงหาประโยชน์อันใดเป็นส่วนตัวโดยอาศัยหน้าที่การงาน ขอให้ยึดมั่นในความ ถูกต้องชอบธรรมเป็นอุดมการณ์สูงสุดของชีวิต...” ซึ่งถือเป็นคู่บุญบารมีและคู่ทุกข์ คู่ยากเป็นแบบอย่างของศรีภริยาที่ควรค่าแก่การยกย่องดังคำว่า“มีสุขร่วมเสพมีทุกข์ร่วมต้าน” การเลี้ยงดูบุตร ปัจจุบันสังคมไทยเน้นวัตถุนิยมมีทัศนคติความเชื่อว่า มารดาไม่จำต้องให้บุตรดื่มนม มารดาสามารถดื่มนมกระป๋องและให้ผู้อื่นเลี้ยงดูแทนได้รวมทั้ง เงินตราสามารถชดเชยช่องว่างเวลาการเลี้ยง ดูความอบอุ่นและความต้องการของบุตรได้แต่สำหรับศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ ท่านกล่าวถึงวิธีเลี้ยงดูบุตร ในหนังสือ “คุณธรรมกับปัญหาเยาวชนในสังคมไทยว่า”“...ผมเป็นพ่อของลูก ๆ 5 คน ซึ่งอายุไล่เลี่ยกัน ด้วย งานทางวิชาชีพของผมในขณะนั้น ไม่ค่อยจะมีเวลาอยู่กับลูกมากนัก แต่ภริยาของผมเป็นคนเตือนในเรื่อง สำคัญของการอบรมลูก ๆ ว่าทั้งพ่อแม่ต้องทำร่วมกันหากพ้นระยะเวลาสำคัญนี้ไป จะไม่มีโอกาสแก้ตัวอีก ตั้งแต่นั้นมาผมก็อุทิศเวลา ทำกิจกรรมกับลูก ๆ หลังเลิกเรียนและวันหยุด ไม่ว่าการเล่นกีฬา พาลูก ๆ ไป เที่ยวเราใกล้ชิดกันมาก เมื่อลูกพูดหรือทำอะไรไม่เหมาะสม ผมและภริยาจะอบรมสั่งสอนเขาทันที เช่น มารยาดีที่โต๊ะอาหาร การตรงต่อเวลา การรักษาคำพูด ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ การเคารพญาติผู้ใหญ่ผู้มีอาวุโส ความสุภาพอ่อนโยน มีอัธยาศัยอันดีต่อผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีอาวุโสโดยไม่คำนึงถึง ตำแหน่งหน้าที่การงานไม่ว่าอยู่ระดับใด ไม่ให้ลูก ๆ อิจฉาริษยา แก่งแย่งสิทธิหรือประโยชน์ของกันและกัน ไม่ให้ลูกคอยจับผิดลูก หรือคนอื่น ต้องรักและเสียสละให้แก่กันไม่อยากเห็นลูก ๆ เป็นหนอนหนังสือเอาแต่ เรียนอย่างเดียวโดยไม่สนใจเรื่องอื่นใดเลย เราส่งเสริมลูก ๆ ทุกคนให้มีกิจกรรมนอกหลักสูตร เช่น กิจกรรม ค่าอาสาพัฒนาหรือกีฬางานอดิเรกที่ชอบรวมทั้งปลูกฝัง เรื่อง “การให้สำคัญกว่าการรับ” เป็นต้น สิ่งที่ ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ และภริยาสั่งสอนบุตร ในเรื่องการเคารพผู้มีอาวุโสและหลีกเลี่ยงการอวดอ้าง แสดงตน ท่านได้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างด้วย ดังปรากฏในหนังสือ เรื่องของพลทหารธานินทร์ฯ ว่า “ผมรับ ราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ 8 วัน ก็ต้องไปรับราชการเกณฑ์ทหาร สังกัดโรงเรียนยาน เกราะ กองพลทหารม้าที่บางกระบือ ผมไม่ได้เอ่ยถึงวุฒิที่ได้รับจากต่างประเทศ เพราะไม่ประสงค์จะได้รับ
สิทธิพิเศษอันใด และเกรงเป็นที่เขม่นของบรรดาเพื่อนทหารเกณฑ์และทหารเก่าในคืนแรก ๆ ผมนอนไม่ค่อย หลับเพราะถูก “รถถัง”(ตัวเรือด) และ”เครื่องบิน” (ยุง)กัด...”
หน้าที่การงาน ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ เริ่มรับราชการเมื่อปี 2491 ประจำแผนกบัญชี สำนัก
เลขานุการกรมเกษตร กระทรวงเกษตร จากนั้นลาออกจากราชการเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ เมื่อสำเร็จ การศึกษาแล้ว ท่านมารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา กระทรวงยุติธรรม ในปี 2498 ต่อมาได้รับ แต่งตั้งเป็นหัวหน้ากองการคดี เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2507 และดำรงตำแหน่งเป็น ผู้พิพากษาในศาลสูงตามลำดับ จนกระทั่งปี 2519 ขณะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ท่านลาออกจากราชการเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย เมื่อพ้นจากตำแหน่งทางฝ่ายบริหาร ท่านได้รับ พระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีตั้งแต่ ปี 2520 จนถึงปัจจุบัน. ชื่อเสียงเกียรติคุณและผลงาน ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ เป็นผู้มีอุดมการณ์และหลักการใน การทำงานจนได้รับการยกย่องจากผู้พิพากษา บุคคลทั่วไปว่าท่านเป็นผู้มีความเที่ยงตรง ซื่อสัตย์ สุจริต รอบรู้ ในวิชากฎหมายและด้านจริยธรรมเป็นเลิศ ท่านได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ให้เป็น ประธานอนุกรรมการจัดทำประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ เมื่อปี 2527 ใช้เวลายกร่าง 1 ปี 3 เดือนจน แล้วเสร็จ และประธานคณะกรรมการตุลาการได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2529 จนถึงปัจจุบัน ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ได้ให้แง่คิดแก่ผู้พิพากษาในเรื่องความกล้าหาญ ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“...สำหรับนักกฎหมายฝ่ายตุลาการนั้น แม้ว่าจะมีความเป็นอิสระแก่ใจ มีความเป็นไทแก่ตัว ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวงก็ตาม แต่ก็ต้องมีความกล้าในสิ่งที่ควรกล้า กล่าวคือ ควรตัดสินคดีตามที่มีหลักการสากลว่า ต้องถือตามที่บุคคลซึ่งมีเหตุมีผลและมีความรับผิดชอบในสังคมเห็นว่าเป็นสิ่งถูกต้องและชอบธรรม โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ ”

  ผลงานด้านการเมือง แม้อายุรัฐบาลศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์จะมีเพียง 1 ปี 12 วัน อันเป็นเวลา
ที่ไม่ยาวนานนัก แต่รัฐบาลภายใต้การนำของท่านทุกคนก็ได้ทุ่มเทเสียสละปฏิบัติหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างเต็มที่ ผลงานที่เป็นรูปธรรม เช่น การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร การจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร โครงการอาสาปลูกป่าในฤดูฝน โครงการก่อสร้างและบูรณะทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงจังหวัด การจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนหรือ อ.ส.ม.ท. สำนักงานคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และการก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในท้องถิ่นทุรกันดาร 20แห่ง เพื่อน้อมเกล้าถวายเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงอภิเษกสมรส เป็นต้น

บทบาทความเป็นอาจารย์และผลงานทางวิชาการ ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ถือเป็นปราชญ์ทาง
กฎหมายเป็นแบบอย่างผู้อุทิศตนเพื่อพัฒนาการศึกษาวิชานิติศาสตร์อย่างแท้จริง ท่านเคยให้สัมภาษณ์ว่า

“อาชีพครูถือว่าเป็นอาชีพที่สองของผมก็ว่าได้ ผมเริ่มสอนครั้งแรกในวิชาภาษาอังกฤษ หลักสูตรผู้ช่วยผู้พิพากษาหลายรุ่น สอนวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง สิ่งที่ผมถือเป็นหลักปฏิบัติในการสอนคือ ต้องรักวิชาที่สอน รักศิษย์ที่เรียน ให้ความรู้แก่ศิษย์โดยไม่หวงวิชา และต้องสอนด้วยใจจริงอย่างทุ่มเท”

ในปี 2531 ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ได้รับพระราชทานรางวัลพระเกี้ยวทองคำ ในฐานะ
ผู้สนับสนุนภาษาไทยดีเด่น และมีผลงานนิพนธ์ด้านกฎหมายมากมายนับ 100 เล่ม เช่น ภาษากฎหมายไทยการตีความกฎหมาย(ร่วมกับศาสตราจารย์พิเศษวิชามหาคุณ) ลักษณะเด่นในงานนิพนธ์ของศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ คือ ใช้ภาษาดี สุภาพ ประณีต งานนิพนธ์ทุกเรื่องของท่านจะปรากฏคุณธรรมทางวิชาการอยู่ ในมาตรฐานสูงเป็นยาดำสอดแทรกอยู่เสมอ แม้ล่วงวัย 84 ปี ท่านก็ยังมิได้หยุดนิ่งในบทบาทของนักคิด นัก ประพันธ์ และอาจารย์ที่พร้อมจะสอนสั่งลูกศิษย์ด้วยจิตใจที่อิ่มเอิบเบิกบานโดยมิเคยบ่นท้อ ความเป็นผู้มีอารมณ์ขัน จากข้อความที่ร้อยเรียงมา ดูประหนึ่งว่า ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์จะ เป็นผู้จริงจัง ตั้งใจ ใฝ่งาน ในทุกลมหายใจขณะจิต แต่แท้จริงแล้ว ท่านเป็นผู้มีอารมณ์ดี จิตเป็นประภัสสร ยิ้ม แย้ม แจ่มใส และแฝงเร้นด้วยอารมณ์ขันอันเป็นเสน่ห์ที่เติมเต็มตัวท่าน
ดังปรากฏจากบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งที่ว่า

“...การที่ผมมีภริยาเป็นชาวต่างชาติก็เป็นเรื่องแปลกของหลายๆคน
เหมือนกัน ครั้งหนึ่งผมพาคาเรนและลูกไปเที่ยวจังหวัดนครปฐม มีคนในตลาดคนหนึ่งชักชวนเพื่อนๆออกมายืนดู

แล้วพูดว่า

 “ ไอ้ยุ่นคนนั้นมันมีเมียแหม่ม แหมมันพูดไทยชัดฉิบหายเลย” หรือ ในการตรวจข้อสอบไล่
ของลูกศิษย์ ท่านเล่าว่า ลูกศิษย์มักขอความเมตตาบางคนถึงกับพร่ำพรรณนามาในกระดาษคำตอบ เช่น

 “อาจารย์ขา ถ้าอาจารย์คิดจะปล่อยนกปล่อยปลาละก็ อาจารย์ปล่อยหนูก่อนนะคะ ”
อีกรายเขียนว่า
“สงสาร ผมเถอะ ขอคะแนนเมตตาผมบ้าง ผมมาไกลแสนไกล เสียค่าใช้จ่ายสูง มีลูกมีเมียจะต้องรับภาระอีกมาก สาธุ!ขอให้ผู้ตรวจจงเจริญด้วยลาภยศ สรรเสริญ ธนสารสมบัติ พิพัฒนมงคล คิดสมประสงค์จงทุกประการ และ เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละเทอญ ผมสอบมาหลายครั้งแล้วตกทุกที สงสารผมเถิด ผู้ประเสริฐ สาธุ...”

ความคาดหวังของศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ บุคคลที่รู้จักหรือใกล้ชิดจะทราบได้ว่า ท่าน รณรงค์
ปลูกฝัง เรื่องคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทยมายาวนานกว่าสองทศวรรษ ท่านให้สัมภาษณ์ว่า

“ ไม่เหนื่อย และไม่ท้อครับ เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมฟังเป็นเรื่องของจิตใจโดยแท้ การแก้ไขจิตใจของบุคคลไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายเหมือนกดสวิตซ์ไฟ หากจะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน อาศัยทั้งความตั้งใจ อดทน และ ความเสียสละ ร่วมมือร่วมใจ จากทุกภาคส่วนในสังคม หากทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญ ในเรื่อง คุณธรรมและจริยธรรม และเข้าถึงในเรื่องนี้ ปลุกจิตสำนึกของตนเองที่ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมให้ อยู่เหนือสิ่งอื่นใด และร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างแข็งขันแล้ว แม้หนทางจะยาวไกลและยาก เข็ญสักเพียงใด ผมก็เชื่อว่าเราจะสามารถแก้ไขวิกฤตการณ์เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมได้อย่างแน่นอน ”

    วันนี้แม้วัยที่ย่าง 85 ปี ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ยังมีสุขภาพแข็งแรงปฏิบัติภารกิจทุกด้านด้วย
ความเข้มแข็ง มั่นคงตามอุดมการณ์มิเคยเปลี่ยนแปลง กอปรด้วยมาตรฐานที่สูงยิ่ง และยึดมั่นดำรงตนในหลัก คุณธรรมจริยธรรมเปี่ยมล้นด้วยความจงรักภักดี ในฐานะองคมนตรีข้าละอองธุลีพระบาทและราษฎรใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง คุโนปการทั้งปวงที่ศาสตราจารย์พิเศษ ธานินทร์ ได้ปลูกฝังฝากไว้ในสังคมไทยมีมากมายเหลือคณานับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ บรรดานัก กฎหมายแล้วถือว่าท่านเป็นครูเป็นปูชนียบุคคลทางด้านกฎหมายที่ยึดมั่นในหลักวิชาชีพและจริยธรรมอย่าง เคร่งครัดมาตลอดชั่วชีวิตจนถึงปัจจุบัน วรรณกรรมวิชาการทางนิติศาสตร์ ปาฐกถา ผลงานคำบรรยายของ ท่านให้โอกาสต่างๆ ล้วนทรงคุณค่า ทันสมัย ละเอียดลึกซึ้ง สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อ จรรโลงยกระดับมาตรฐานคุณภาพผู้คนในสังคมไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและระลึกถึงคุณค่า คุณงามความดีของศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ กรัยวิเชียร ศาลยุติธรรมจึงได้จัดงานแสดงมุทิตาจิต 84 ปี ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นในวันที่ 26 พฤษภาคม 2554 เวลา 13.00 – 16.00 นาฬิกา ณ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม กรุงเทพมหานคร จึงขอเชิญชวนลูกศิษย์และบุคคลที่ เคารพศรัทธาในตัวท่านมาร่วมงานอันทรงคุณค่าในโอกาสนี้ด้วยกัน

นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ
โฆษกศาลยุติธรรม
ประธานคณะกรรมการจัดงานฯ

0 comments:

Post a Comment