Thursday, September 6, 2012

ศาลบังคับให้ตรวจ ดี. เอ็น. เอ. ได้หรือไม่

ศาลบังคับให้ตรวจ ดี. เอ็น. เอ. ได้หรือไม่

ประเด็นทางสังคมที่เป็นข่าวร้อนแรงในขณะนี้ คงไม่มีเรื่องใดเกินไปกว่าข่าว
ของแอนนี่ บรู๊ค กับ ฟิล์ม รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ ในหลาย ๆ แง่มุมที่วิพากษ์กัน มีประเด็นทางกฎหมายเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดกันมากก็คือ การตรวจสารพันธุกรรมหรือ ดี.เอ็น.เอ. ระหว่างบุตรชายแอนนี่ บรู๊ค กับฟิล์ม
ปัญหาว่า ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะไปยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวเพียงฝ่ายเดียวเพื่อขอให้ศาลออกคำสั่งบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปตรวจ ดี.เอ็น.เอ. เพื่อพิสูจน์สารพันธุกรรมความเป็นบิดากับบุตรกันได้หรือไม่ คำตอบคือไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายเปิดช่องให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลในช่องทางนี้นั่นเอง
คำถามต่อไปมีว่าถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการตรวจดี.เอ็น.เอ. เพื่อพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรกันจะทำอย่างไร คำเฉลยก็คือ 1) คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เช่น ฝ่ายชายต้องฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย สรุปง่าย ๆ คือ ต้องมีการฟ้องเป็นคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวก่อน 2) คู่ความฝ่ายที่ขอตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมต้องแสดงเจตนาร้องขอต่อศาลว่าต้องการขอให้มีการตรวจพิสูจน์ ดี.เอ็น.เอ. เช่น ในคดีที่ฟ้องร้องกันนั้นฝ่ายชายขอให้มีการตรวจพิสูจน์ว่าตนเองกับเด็กเป็นบิดากับบุตรกันหรือไม่ 3) คู่กรณีที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องให้ความยินยอม หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความยินยอมศาลก็บังคับไปตรวจไม่ได้ อย่างไรก็ตามกฏหมายกำหนดทางแก้ไขไว้ว่าหากฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือปฏิเสธโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือกระทำการขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร กฎหมายให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้างซึ่งจะเป็นผลเสียต่อฝ่ายที่ไม่ยินยอมหรือกระทำการขัดขวางนั้น ตัวอย่างเช่น ฝ่ายชายร้องขอให้ตรวจพิสูจน์ ดี.เอ็น.เอ. ระหว่างตนกับเด็ก แต่มารดาเด็กปฏิเสธไม่ให้ความยินยอมในการตรวจโดยไม่มีเหตุอันสมควร กรณีเช่นนี้ ผลร้ายจะตกอยู่กับฝ่ายมารดาของเด็ก เพราะกฎหมายปิดปากสันนิษฐานเป็นผลร้ายแก่ฝ่ายที่ปฏิเสธว่า ชายที่ขอตรวจพิสูจน์ ดี.เอ็น.เอ. กับเด็กไม่ได้เป็นบิดากับบุตรกัน
วิธีการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมหรือ ดี.เอ็น.เอ. เป็นกระบวนการแสวงหาพยานหลักฐานในทางคดีวิธีหนึ่งเท่านั้น คู่ความแต่ละฝ่ายยังสามารถนำพยานหลักฐานอื่นมาสืบพิสูจน์เพื่อสนับสนุนหรือหักล้างข้อต่อสู้ของตนได้อีก จะเห็นได้ว่ากฎหมายเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวในร่างกายและอวัยวะทั่วเรือนร่างของบุคคล หากปราศจากซึ่งความยินยอม
โดยสมัครใจแล้วย่อมไม่มีผู้ใดจะล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวได้ ดังนั้นการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมหรือ ดี.เอ็น.เอ. จึงมิได้ง่ายดายดังที่หลายคนเข้าใจ ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้องค์ประกอบและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น

สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ
โฆษกศาลยุติธรรม

0 comments:

Post a Comment