Thursday, September 6, 2012

ทารก 2000 ศพ มุมมองกฎหมายที่ควรรู้

ทารก 2000 ศพ มุมมองกฎหมายที่ควรรู้

                 ข่าวเกี่ยวกับการค้นพบซากทารกสองพันศพ นำมาซึ่งปัญหาข้อถกเถียงหลายประการ ทั้งปัญหาสังคม ปัญหาการละเมิดกฎหมาย และปัญหาที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ ปัญหาความเหมาะสมของกฎหมายอาญาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง บทความนี้จึงต้องการที่จะนำเสนอเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเกี่ยวกับฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องหรือสังคมทั่วไปได้เข้าใจเกี่ยวกับความผิดตามกฎหมายดังกล่าว อันจะนำไปสู่การค้นหาจุดที่เหมาะสมในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในส่วนนี้ต่อไป

ตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดการกระทำความผิด ได้บัญญัติความผิดฐานทำให้แท้งลูกไว้รวมทั้งสิ้น 5 มาตรา โดยได้บัญญัติไว้ในหมวด 3 ลักษณะ 10 ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย มาตรา 301 ถึง 305 ซึ่งอาจแยกพิจารณาได้เป็น 2 กรณี ดังต่อไปนี้

     1. กรณีที่หญิงนั้นให้ความยินยอมในการทำแท้ง ในกรณีนี้ จะเห็นได้ว่า กฎหมายบัญญัติห้ามการทำแท้งไว้แม้หญิงซึ่งตั้งครรภ์ยินยอม โดยกฎหมายกำหนดความผิดไว้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง 2 ฝ่าย ได้แก่
ก. ตัวหญิงเอง หญิงไม่ว่าจะกระทำแท้งด้วยตนเองหรือยอมให้บุคคลอื่นกระทำแท้ง กฎหมายกำหนดไว้เป็นความผิดทั้งสิ้น และให้ได้รับโทษเท่ากัน อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสังเกตว่า ในมาตรานี้ หญิงจะรับผิดก็ต่อเมื่อหญิงได้กระทำแท้งหรือยอมให้กระทำแท้งด้วยเจตนาเท่านั้น กล่าวคือหญิงประสงค์จะให้ไม่มีการคลอดทารกที่ตนตั้งครรภ์ไว้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่หญิงประมาทเลินเล่อไม่ดูแลครรภ์ให้ดี ทำให้ตนเองแท้ง ในกรณีเช่นนี้ เห็นว่าหญิงไม่ต้องรับผิด (โปรดดู มาตรา 301)
ข. บุคคลอื่นที่ทำให้หญิงแท้ง ในกรณีนี้เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแก่บุคคลที่ทำแท้งให้แก่หญิงด้วย โดยกำหนดให้บุคคลใดๆ ที่ไปทำแท้งให้แก่หญิงแม้หญิงจะสมัครใจยินยอมก็ตาม บุคคลนั้นถือว่าได้กระทำผิดและจะต้องได้รับโทษตามกฎหมายอาญา (โปรดดูมาตรา 302) ในบทบัญญัตินี้จะเห็นได้ว่า กฎหมายกำหนดให้บุคคลต้องรับผิดไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีวิชาชีพ ในทางการแพทย์หรือไม่ก็ตาม และจะได้รับดำเนินการไปในลักษณะที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ตามสุขอนามัยก็ตาม ในมาตรา 302 มีลักษณะเช่นเดียวกับมาตรา 301 กฎหมายยังต้องการองค์ประกอบทางเจตนาเช่นกัน ดังนั้น บุคคลใดๆ ที่ไปทำแท้งจะต้องเจตนาที่จะทำแท้งให้แก่หญิงด้วย หากเป็นการกระทำโดยประมาท เลินเล่อ ย่อมไม่มีความรับผิดทางกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม หากการประมาทเลินเล่อนี้ทำให้หญิงแท้งลูก อาจต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 (5)
/ ยก ...
ยกตัวอย่างเช่น แพทย์รับตัวหญิงที่ได้รับบาดเจ็บจากกระดูกขาหัก จำเป็นต้องวางยาสลบเพื่อผ่าตัดรักษาขา แต่แพทย์ขาดความระมัดระวังตามสมควร วางยาสลบผิดจนเป็นเหตุให้หญิงแท้ง เช่นนี้แพทย์ไม่มีความรับผิดตามมาตรา 302 เพราะมิได้มีเจตนาจะทำแท้งหญิง แต่เป็นกรณีที่แพทย์ประมาทเลินเล่อทำให้หญิงแท้งลูก ซึ่งมีความรับผิดตามมาตรา 279 (5) เป็นต้น
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งในมาตรา 302 นี้ จะเห็นว่า บุคคลที่ทำแท้งให้แก่หญิงจะได้รับโทษหนักกว่าหญิงเสียอีก เช่นนี้จึงเห็นได้ว่า กฎหมายมุ่งปกป้องการทำแท้ง โดยกำหนดความรับผิดแก่ผู้ทำแท้งให้หนักขึ้นเพราะอาจเล็งเห็นว่า การทำแท้งของหญิงจะสำเร็จลงได้ก็ด้วยบุคคลอื่นทำแท้งให้ จึงกำหนดบทลงโทษแก่บุคคลที่ทำแท้งแก่หญิงหนักกว่าตัวหญิงเองซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและยินยอมให้กระทำแท้งเสียอีก
บุคคลอื่นที่ทำให้หญิงแท้ง มีเหตุที่จะต้องรับโทษหนักขึ้น หากทำให้หญิงนั้นรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย (โปรดดูมาตรา 302 วรรคสอง) หรือถึงแก่ความตาย (โปรดดูมาตรา 302 วรรคสาม)
มีข้อที่น่าสังเกตในบทบัญญัติมาตรา 302 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ผู้ทำแท้ง ต้องรับโทษหนักขึ้นถ้าทำให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่น ความในบทบัญญัตินี้ หมายความว่า หากการทำแท้งทำให้หญิงได้รับอันตรายสาหัสตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 297 ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษหนักขึ้น ทั้งนี้ ความในบทบัญญัตินี้ย่อมหมายความอยู่ในตัวว่าการแท้งลูกไม่ถือเป็นอันตรายสาหัสที่จะต้องได้รับโทษตามบทบัญญัตินี้อีกต่อไป ทั้งนี้ การได้รับอันตรายสาหัสนี้จะต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ (โปรดดูมาตรา 63) เช่น การทำแท้งเป็นเหตุให้หญิงเสียเลือดมาก ทำให้เจ็บป่วยเรื้อรังไปตลอดชีวิต เป็นต้น แต่หากอันตรายสาหัสเกิดจากผลที่ไม่เป็นไปตามธรรมดา ผู้กระทำผิด ไม่ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรานี้ เช่น การทำแท้ง ทำให้หญิงตาบอดเนื่องจากสายตาของหญิงไม่สามารถทนต่อแสงไฟที่ใช้ในสถานที่ทำแท้งได้ เป็นต้น

2. กรณีที่หญิงนั้นไม่ยินยอม การทำแท้งโดยหญิงนั้นไม่ยินยอม กฎหมายกำหนดลงโทษบุคคลที่ทำให้หญิงแท้งหนักกว่าในกรณีที่หญิงนั้นยินยอม และกำหนดให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษหนักขึ้น ถ้าทำให้หญิงนั้นได้รับอันตรายสาหัสอย่างอื่นหรือถึงแก่ความตาย (โปรดดูมาตรา 303) บทบัญญัติในส่วนนี้ มีความหมายเช่นเดียวกับที่อธิบายไว้ข้างต้น ต่างกันแต่ตรงที่หญิงนั้นมิได้ยินยอมให้ทำแท้งเท่านั้น
ความผิดเกี่ยวกับการทำแท้งดังกล่าว กฎหมายได้บัญญัติยกเว้นความรับผิดทางอาญาไว้ 2 กรณี โดยบทยกเว้นความรับผิดดังกล่าว ใช้เฉพาะในกรณีที่หญิงยินยอมให้ทำแท้งเท่านั้น ในกรณีที่หญิงมิได้ยินยอมให้ทำแท้ง ไม่มีเหตุให้ยกเว้นความรับผิดทางอาญาแต่อย่างใด

การยกเว้นความรับผิดทางอาญาทั้งสองกรณี ได้แก่

1. การพยายามทำแท้ง ถ้าปรากฏว่าการทำแท้งไม่เป็นผลสำเร็จไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ซึ่งส่งผลให้การทำแท้งนั้นเป็นเพียงการพยายามกระทำแท้ง กฎหมายจะยกเว้นความรับผิดให้ โดยกำหนดให้บุคคลผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ อย่างไรจะถือว่าเป็นการพยายามทำแท้ง ต้องพิจารณา ตามหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการลงมือกระทำผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด (โปรดดูมาตรา 80) เช่น จัดการลงมือทำแท้งแล้ว แต่ถูกจับเสียก่อนกลางคัน เป็นต้น แต่ถ้าเพียง
/ นัด ...
นัดแนะกันหรือตกลงกัน ยังไม่ถือเป็นขั้นของการลงมือ ยังไม่ผิดฐานพยายามทำแท้ง
การยกเว้นโทษในมาตรานี้ ชี้ให้เห็นว่า กฎหมายอาญาบัญญัติให้การพยายาม ทำให้หญิงแท้งเป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว เป็นแต่เพียงไม่ลงโทษเท่านั้น ทั้งนี้ อาจเป็นกุศโลบายเพื่อให้ผู้ทำแท้งที่เห็นว่าการทำแท้งไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ หรือกลับใจไม่ทำ จะได้ยับยั้งการกระทำของตนเองเสียก่อน เพื่อที่ตนเองจะได้ไม่ต้องรับโทษ

2. การทำแท้งโดยแพทย์ในเงื่อนไขบางอย่าง มาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติอนุญาตให้แพทย์สามารถทำแท้งให้แก่หญิงได้ โดยความยินยอมของหญิง ถ้าปรากฏข้อเท็จจริง
ก. จำเป็นต้องทำแท้งเนื่องจากสุขภาพของหญิง กรณีนี้กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ เพราะหากไม่มีการทำแท้ง อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของหญิงที่ตั้งครรภ์นั้น โดยผู้เขียนเห็นว่า การจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของหญิงหรือไม่นั้น ต้องเกิดจากการวินิจฉัยของแพทย์ แต่จะเป็นแพทย์ในสาขาใด กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ และแพทย์ที่จะออกความเห็นนั้นอาจจะเป็นแพทย์ที่ทำแท้งให้แก่หญิงหรือไม่ก็ได้
ข. เมื่อการตั้งครรภ์ของหญิงเกิดจากการกระทำความผิดทางเพศ กฎหมายอนุญาตให้หญิงทำแท้งได้ ในกรณีที่การตั้งครรภ์เป็นผลมาจากการที่หญิงตกเป็นเหยื่อจาก การกระทำทางเพศของชาย ซึ่งความผิดเกี่ยวกับเพศที่กฎหมายยกเว้นให้หญิงสามารถกระทำได้นั้น ได้แก่ การข่มขืนกระทำชำเรา (โปรดดู มาตรา 276 และมาตรา 277) หรือการเป็นธุระจัดหาหรือ พาหญิงไปเพื่อการอนาจาร (โปรดดูมาตรา 282 มาตรา 283 และมาตรา 284) มาตรานี้ ยกเว้นความรับผิดให้แก่หญิงและแพทย์ผู้ทำแท้ง เนื่องจากเห็นว่าการตั้งครรภ์มิได้เกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ตามปกติของหญิง ดังนั้น บุตรที่เกิดขึ้นจึงอาจไม่เป็นที่ปรารถนาของหญิง และการให้หญิงยังคงตั้งครรภ์อยู่ จะเท่ากับเป็นการทำร้ายหญิงหรือทำให้หญิงได้รับผลร้ายจากการกระทำความผิดทางอาญาอย่างมาก กฎหมายจึงอนุญาตให้แพทย์ทำแท้งให้แก่หญิงได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาน่าขบคิดต่อไปว่า การที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้ หญิงจะต้องแสดงหลักฐานให้แก่แพทย์ผู้ทำแท้งถึงเพียงใด จึงจะทำให้แพทย์มั่นใจได้ว่าตนสามารถทำแท้งได้ โดยไม่มีความรับผิดทางกฎหมาย จะเป็นแค่การแจ้งต่อแพทย์โดยลำพังของหญิง หรือจะต้องคำร้องทุกข์กล่าวโทษหรือจนกว่า จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหา หรือจนกว่าจะมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาจากพนักงานอัยการแล้ว หรือจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
ข้อยกเว้นความรับผิดในกรณีการทำแท้งโดยแพทย์นี้ จะเห็นว่ากฎหมายให้ถือว่าไม่มีความผิด ซึ่งเท่ากับกฎหมายยอมรับว่าการทำแท้งเช่นว่านี้ กฎหมายยอมให้กระทำได้ไม่ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายแต่อย่างใด ต่างจากกรณียกเว้นความรับผิดในเรื่องการพยายามกระทำผิด ซึ่งกฎหมายเห็นว่าการพยายามทำแท้งนั้นเป็นความผิดแล้ว เพียงแต่ไม่ลงโทษผู้กระทำผิดเท่านั้น
จากบทบัญญัติทั้งหลายที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะพบได้ว่ากฎหมายไทยเห็นว่า การทำแท้งนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เป็นเรื่องที่สังคมไม่อนุญาตให้กระทำได้ ไม่ว่าหญิงนั้น จะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเท่ากับกฎหมายมองว่าถึงแม้จะเป็นเนื้อตัวร่างกายของหญิงเอง แต่เนื่องจากการทำแท้งลูกขัดต่อนิตินโยบาย ซึ่งอาจจะเกิดจากความเชื่อทางศาสนา ความรู้สึกร่วมกันของสังคม หรือบรรทัดฐานอย่างใดๆ ก็ตาม
/ ประเด็น ...
ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายการทำแท้งที่ยังถกเถียงกันอยู่ในเวลานี้ ก็คือ เราจะอนุญาตให้หญิงทำแท้งได้โดยความสมัครใจหรือความยินยอมของหญิงเองได้หรือไม่ เพราะในแนวความคิดอีกด้านหนึ่ง มองเห็นว่า เมื่อเป็นเนื้อตัวร่างกายของหญิง และหญิงอยากจะให้ มีการทำแท้งเพราะไม่ประสงค์จะมีบุตรไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ กฎหมายก็ไม่ควรก้าวล่วงเข้าไป ในเสรีภาพของหญิงในส่วนนี้ เพราะการก้าวล่วงเข้าไปเช่นนั้น อาจไม่เป็นประโยชน์ทั้งตัวหญิงและตัวเด็กที่จะเกิดมาด้วย กฎหมายควรจะจำกัดอาณาเขตในการห้ามเพียงแต่การทำแท้งที่มิได้ เกิดจากผู้ประกอบวิชาชีพ ไม่ถูกสุขอนามัยหรือไม่ถูกกรรมวิธีทางการแพทย์เท่านั้น ซึ่งปัญหาเช่นว่านี้ ถือเป็นปัญหาในเชิงนโยบายที่ผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันกำหนด ทั้งนี้ เพราะการทำแท้งมิใช่เรื่องที่จะพูดถึงแต่เสรีภาพแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่จะต้องคำนึงถึงความรู้สึกหรือมาตรฐานในสังคมไทยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย

*****************************

นางสาวเปรมรัตน์ วิจารณาญาณ
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา
และ
นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ
โฆษกศาลยุติธรรม

0 comments:

Post a Comment