Thursday, September 6, 2012

การคัดค้านผู้พิพากษา

การคัดค้านผู้พิพากษา

 

             เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างบุคคลหรือองค์กร หรือในเกมส์กีฬาที่มีการประชันขันแข่งระหว่างนักกีฬาที่ต้องอาศัยดุลพินิจวิญญูชนคนธรรมดามาเป็นผู้ชี้ถูกผิดตัดสินแพ้ชนะแล้ว คู่กรณีที่มีข้อขัดแย้งหรือนักกีฬาที่แข่งขัน ย่อมปรารถนาคนที่มีความเป็นธรรมเป็นกลาง ไม่มีอคติ ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาเป็นผู้ระงับความขัดแย้ง ตัดสินผิดถูก แพ้ชนะตามกฎหมาย กฎกติกาด้วยความ “ยุติธรรม” ไม่ลำเอียงเข้าด้วยกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แม้สุดท้ายตนเองจะแพ้พ่ายปราชัย ก็สามารถทำใจยอมรับในผลลัพธ์นั้นได้ ในทางตรงข้าม หากกรรมการคนกลางผู้ชี้ขาดมีส่วนได้เสียหรือมีคุณสมบัติต้องห้าม ถูกตั้งข้อระแวงสงสัยในความเป็นกลางตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ต่อให้บุคคลผู้นั้น ตัดสินแพ้ชนะด้วยความเป็นธรรมเป็นกลางอย่างแท้จริง ไม่มีความลำเอียงหรืออคติ คู่กรณีฝ่ายที่พ่ายแพ้ ก็ยากที่จะยอมรับได้อย่างสนิทใจไร้ข้อกังขา ดังนั้นความยุติธรรมจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญและเป็นหลัก ในการผดุงรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและประเทศชาติ

         สำหรับประชาชนที่พลัดหลง จงใจหรือจำเป็นต้องมาพึ่งพาใช้บริการหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าตำรวจ อัยการ หรือศาล เป็นต้น ย่อมมีความหวังในความเป็นยุติธรรมสูงยิ่งกว่า ข้อแพ้ชนะในเกมส์กีฬา เพราะผลร้ายจากความปราชัยในผลแห่งคดี อาจเป็นมัจจุราช พญามารที่หยิบยื่นความหายนะ มาให้กลายเป็นคนยากจนล้มละลาย หมดสิ้นอนาคตหรือต้องสูญสิ้นอิสรภาพ ต้องคำพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลายาวนานด้วยโทษทัณฑ์อันตนเชื่อว่ามิได้กระทำผิดและอาจเชื่อต่อไปว่ากระบวนการยุติธรรม มีอคติ มีส่วนได้เสีย ผลคดีจึงไม่มีความยุติธรรม ดังนั้นในศาลยุติธรรม กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้คู่ความอุทธรณ์ฎีกาหรือคัดค้านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะได้ รวมทั้งผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนนั้นเองก็อาจพิจารณาขอถอนตัวจากการพิจารณาพิพากษาคดีที่ตนเองมีส่วนได้เสียหรือตามข้อห้ามที่กฎหมายบัญญัติเช่นกัน

           การใช้สิทธิของคู่ความข้างต้นได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหมวด 2 ว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษาตั้งแต่ มาตรา 11 ถึงมาตรา 14 ซึ่งวางหลักเกณฑ์และเปิดโอกาสให้คู่ความโจทก์จำเลยสามารถคัดค้านผู้พิพากษาคนหนึ่งคนใดที่เป็นผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีได้ด้วยเหตุดังนี้ (1) มีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ในคดีนั้น เช่น ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเป็น
เจ้าของรวมในที่ดินกับโจทก์ที่มาฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่บุกรุกที่ดิน (2) “เป็นญาติเกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง..” เช่น ผู้พิพากษาคนหนึ่งสมรสกับบุตรสาวเจ้าของธุรกิจในจังหวัดที่ตนเองเพิ่งไปรับราชการ ต่อมาบิดาภริยาฟ้องบุคคลภายนอกเป็นจำเลยต่อศาลไม่ว่าในทางแพ่งหรืออาญา หากผู้พิพากษาคนนั้นเป็นเจ้าของสำนวน หรือองค์คณะย่อมถูกคัดค้านได้และพึงต้องถอนตัวจากคดีดังกล่าว ซึ่งธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติของศาลยุติธรรม จึงมีหลักเกณฑ์ข้อหนึ่งว่า ภูมิลำเนาเกิดของตนเองและคู่สมรส จะไม่อนุญาตให้ผู้พิพากษาผู้นั้นไปรับราชการ ในจังหวัดดังกล่าวเพราะเกรงว่าท่านจะหนักใจในการทำงานและคู่ความจะไม่มั่นใจในความยุติธรรม ยกเว้นในกรุงเทพมหานครหรือปริมณฑลเป็นต้น (3) ถูกอ้างเป็นพยาน หรือได้เห็นเหตุการณ์หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้เป็นพิเศษเกี่ยวข้องกับคดีนั้น เช่น ผู้พิพากษาเป็นประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์ในคดีผู้ที่ตนเองเป็นเจ้าของสำนวนหรือองค์คณะ หรือเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อ ในพินัยกรรมว่าปลอมหรือไม่ และต่อมาท่านมาเป็นผู้พิพากษาตัดสินคดีนั้น (4) “เป็นผู้แทน โดยชอบธรรมหรือได้เป็นทนายความของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาแล้ว” เช่น ก่อนเป็นผู้พิพากษา เคยเป็นผู้รับมอบอำนาจของตัวความไปชี้แจงภาษีที่กรมสรรพกร หรือเคยเป็นทนายความว่าความในคดีนั้นมาก่อน ต่อมาคดีดังกล่าวมีการฟ้องร้องต่อศาลแล้วผู้พิพากษาผู้นั้นเป็นเจ้าของสำนวนหรือองค์คณะ (5) “เป็นผู้พิพากษานั่งพิจารณาคดีเดียวกันในศาลอื่นมาแล้วหรือเป็นอนุญาโตตุลาการมาแล้ว” เช่น ในคดีเรื่องเดียวกัน ผู้พิพากษาผู้นั้นเคยเป็นเจ้าของสำนวนชี้ขาดตัดสินในศาลชั้นต้นมาแล้ว ต่อมาผู้พิพากษาผู้ตัดสินย้ายขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค แล้วสำนวนคดีเดิมกลับมาสู่การชี้ขาดตัดสินของท่านนั้นอีกครั้งหนึ่ง (6) “ถ้ามีคดีอีกเรื่องหนึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาซึ่งผู้พิพากษานั้นเอง หรือภริยา หรือญาติสืบสายโลหิตตรงขึ้นไป หรือตรงลงมาของผู้พิพากษานั้นฝ่ายหนึ่ง พิพาทกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือภริยา หรือญาติทางสืบสายโลหิตตรงขึ้นไป หรือตรงลงมา ของคู่ความฝ่ายนั้นอีกฝ่ายหนึ่ง” เช่น ภริยาของผู้พิพากษาฟ้องจำเลยคดีหนึ่งในข้อหาหมิ่นประมาทและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลที่ผู้พิพากษาผู้นั้นรับราชการอยู่ แต่ผู้พิพากษาผู้นั้นไม่ได้เป็นเจ้าของสำนวน ต่อมาจำเลยคนเดียวกัน ถูกบุคคลอื่นฟ้องเป็นจำเลย ในศาลเดียวกันข้อหาหมิ่นประมาทอีก ถ้าผู้พิพากษาผู้นั้นรับเป็นเจ้าของสำนวนคดีหลังก็สามารถ ถูกคัดค้านได้ (7) “ผู้พิพากษานั้นเป็นเจ้าหนี้ หรือลูกหนี้ หรือเป็นนายจ้างของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”
ฉะนั้นเมื่อมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดตาม (1) ถึง (7) ข้างต้นผู้พิพากษาผู้นั้นสามารถขอถอนตัวด้วยตนเอง หรือคู่ความที่เกี่ยวข้องอาจยกข้อคัดค้านขึ้นอ้างโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาล หากผู้พิพากษาที่ถูกคัดค้านไม่ยอมถอนตัวออกจากการนั่งพิจารณาคดี ให้ศาล (ผู้พิพากษาคนอื่น) ฟังคำแถลงของคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องและผู้พิพากษาที่ถูกคัดค้านกับทำการสืบพยานหลักฐานที่บุคคลเหล่านั้นได้นำมา แล้วออกคำสั่งยอมรับหรือยกเสียซึ่งคำคัดค้านนั้น คำสั่งชี้ขาดนี้ให้เป็นที่สุด

          มีคดีตัวอย่างที่ถือว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะถูกคัดค้าน เช่น ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นหรือ ศาลสูงเคยสั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์หรือฎีกามาก่อน การสั่งคำร้องในเรื่องดังกล่าวเหล่านั้น มิใช่การพิจารณาพิพากษาคดีและมิใช่การนั่งพิจารณาคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (9),11 (5) ...” โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิคัดค้าน ผู้พิพากษา (คำสั่งคำร้อง ที่ 519/2531 )

           ผู้เขียนมั่นใจว่า ในระบบกฎหมายไทยที่เปิดโอกาสให้คู่ความสามารถคัดค้านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะได้นั้น ถือเป็นหลักการสำคัญที่ต้องการให้คู่ความทุกฝ่าย เชื่อมั่น ในความ “เป็นกลาง” “เป็นธรรม” ของผู้ตัดสินคดี ความจริงข้อหนึ่งซึ่งคู่ความและสังคมไม่ค่อยจะได้รับรู้ก็คือ ในทางปฏิบัติมีผู้พิพากษาจำนวนไม่น้อย ได้ขอถอนตัวจากคดีที่รับผิดชอบและ คืนสำนวนคดีแก่ผู้บริหารศาลด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดหรือหลายเหตุ ตามที่กฎหมายบัญญัติข้างต้น โดยไม่ต้องรอให้คู่ความคัดค้าน และมีคดีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่คู่ความคัดค้านผู้พิพากษา เพราะกริ่งเกรงตั้งข้อรังเกียจและเข้าใจว่า คดีที่ตนเองเป็นความ จะไม่ได้รับความยุติธรรมจากผู้พิพากษา องค์คณะจึงหาเหตุคัดค้านอันไม่เข้าเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด การใช้ดุลพินิจในทางคดีของผู้พิพากษาและการใช้สิทธิของคู่ความต่อศาลต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ ที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น มิใช่ใช้วิธีการฉ้อฉลกลอุบายโดยมิชอบ มิฉะนั้นความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายระบบการศาลและกระบวนการยุติธรรมก็จะเบี่ยงเบน ถูกกัดกร่อนศรัทธาและถูกทำลายความน่าเชื่อถืออย่างไม่เป็นธรรมเช่นกัน


สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ
โฆษกศาลยุติธรรม


http://news.coj.go.th/article_list.php

0 comments:

Post a Comment